7 สมาคมเหล็กลุย Thai First “ศักดิ์สยาม” รับลูกศึกษาความเป็นไปได้ให้เสร็จภายในต.ค. ก่อนเสนอบิ๊กตู่

รายงานข่าวระบุว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่ม 7 สมาคม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย กว่า 470 บริษัท เดินทางเข้าพบนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อแสดงความยินดีที่ได้เข้ารับตำแหน่ง และแสดงจุดยืนสนับสนุนนโยบาย “Thai First” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เพื่อให้โครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงคมนาคมช่วยให้เกิดการหมุนเวียนมูลค่าทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และเป็นแบบอย่างที่ดีในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยของหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ อีกด้วย เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

นายนาวา  จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย และผู้ประสานงานกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ รายงานถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กไทย ว่า ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้านำเข้าที่พฤติกรรมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการทุ่มตลาดและการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 มีส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือเพียง 34% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2559

นอกจากนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในอัตราที่ต่ำมากประมาณ 38% เท่านั้น ซึ่งขณะนี้เวียดนามได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กจนมีอัตราการใช้กำลังการผลิตแซงประเทศไทยแล้วอยู่ที่ 69% หรือ แม้แต่ประเทศอินโดนีเซียก็ตั้งเป้าใช้กำลังการผลิตในประเทศถึง 70% ในปี 2562

กลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ จึงขอสนับสนุนนโยบาย Thai First ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศในอาเซียน รวมถึงประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีนโยบาย Buy American โดยล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้สินค้าในประเทศกับโครงการภาครัฐ โดยกำหนดใช้สินค้าเหล็กที่ 95% และสำหรับสินค้าอื่น 50-75% หรืออินเดียที่มีนโยบาย Make in India ซึ่งทั้งหมดเป็นนโยบายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศทั้งสิ้น

โดยกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ ได้เสนอให้กำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กและเหล็กกล้าที่ผลิตได้ภายในประเทศสำหรับงานโครงการของกระทรวงคมนาคมในอัตราขั้นต่ำ 90% รวมถึงพิจารณาใช้สินค้าเหล็กตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (มอก.)
 
นายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหารสถาบันเหล็กฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการก่อสร้างงานภาครัฐที่ประมูลได้โดยบริษัทสัญชาติจีนนั้น ประเทศไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจน้อยมาก เนื่องจากจีนจะยกมาทั้งโครงสร้างเหล็กซึ่งประกอบด้วยเหล็กหลายผลิตภัณฑ์ โดยส่งผลกระทบต่อโดยตรงผู้ประกอบการเหล็กในประเทศและผู้ผลิตโครงสร้างเหล็กในประเทศซึ่งมีการจ้างงานกว่าหมื่นคน

อีกทั้งสินค้าโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปที่นำเข้ามานั้นขณะนี้ยังไม่มี มอก. ควบคุมคุณภาพด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมการกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตในประเทศจึงมีความสำคัญมาก

นายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน กล่าวว่า ปี 2561 มีการนำเข้าสินค้าโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปประมาณ 2.7 แสนตัน มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท คิดเป็น 25% ของความต้องการใช้ โดยส่วนใหญ่ใช้แรงงานจากต่างประเทศ ไม่มีการจ้างงาน และไม่เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายพลัฎฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ ผู้แทนสมาคมโลหะไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระดับเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้มีการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่มากมายเพื่อส่งเสริม GDP ของประเทศ ซึ่งหากเป็นในอดีตโครงการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นการผลิต การใช้ในประเทศได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างมีความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ต่างๆ มากมายในประเทศแต่ในปัจจุบันได้ผลค่อนข้างน้อย เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่ใช้สินค้าสำเร็จรูปนำเข้าจากต่างประเทศทำให้ไม่เกิดการผลิต การจ้างงานในประเทศ แต่อานิสงค์ทางเศรษฐกิจกลับไปอยู่กับผู้ประกอบการจากต่างประเทศแทน

นายชัยเฉลิม บุญญานุวัตร นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า กล่าวว่า หากมีการกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ ควรจะพิจารณาให้เกิดการใช้สินค้าเหล็กทั้งห่วงโซ่การผลิตเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่ารับทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว จึงได้มีแนวทางแก้ปัญหาโดยกำหนดเป็นนโยบาย Thai First ขึ้นมาและผลักดันให้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยและได้มอบหมายให้
นายพิศักดิ์  จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จึงได้ร่วมกับกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กฯ ตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้สินค้าเหล็กในประเทศของกระทรวงคมนาคม โดยให้เร่งดำเนินการภายในเดือนตุลาคม 2562 นี้เพื่อนำเสนอผลการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายต่อไป