จุรินทร์ลุยหารือ ร่วมอาเซียนกับคู่เจรจาเป้าหมายหลักยังคงผลักดันอาเซ็ป ให้เห็นผลในปีนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา อาทิ ไทย-อินเดีย อาเซียนบวก 3 ( จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) อาเซียน-รัสเซีย อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-แคนาดา ในวันนี้ (10 กย.62) เบื้องต้นสำหรับอินเดียมีประเด็นที่จะหารือและเห็นร่วมกันในการผลักดัน คือ การเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อินเดียว่าควรจะมีความคืบหน้าไปทิศทางที่ดีเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าระหว่างกัน

โดยการค้า 7 เดือนแรกของปี 2562 นี้มูลค่าการค้าขยายตัวแค่ 4.6% ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยไทยส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องปรับอากาศ เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ รถยนต์และชิ้นส่วน ส่วนไทยนำเข้าสินค้าจากอินเดีย เช่น เครื่องจักรกล เพชรพลอย เวชภัณฑ์ ยา เหล็ก เร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จะนำคณะเดินทางไปอินเดียเพื่อเจรจาเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันในช่วงวันที่ 24 – 28 กันยายนนี้ เป้าหมายตั้งใจที่จะไปเจรจาขยายสินค้าทางการเกษตรของไทยให้กับอินเดียด้วยไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์ม และมันสำปะหลัง เป็นต้น

ส่วนการประชุมอาเซียนบวก 3 มูลค่าทางการค้าระหว่างกันในปี 2561 ที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 8 แสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 31% ของมูลค่าการค้าอาเซียน ส่วนมูลค่าในเรื่องการลงทุนนั้นมีมูลค่ารวมกัน 37.9 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นคิดเป็น 24.5% ของมูลค่าการลงทุนของอาเซียน

โดยประเด็นหารือที่สำคัญ ที่ประชุมเห็นร่วม แนวทางการพัฒนาการค้าและการลงทุน และการผลักดัน การประชุมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป เพราะอาร์เซ็ปจะมีประโยชน์ทั้งด้านสินค้าและบริการ การลงทุนและจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการค้าการลงทุนให้กับนักธุรกิจทั้ง 16 ประเทศ ภายใต้ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะทางการค้าของโลก

ทั้งนี้หากผลักดันได้ จะทำให้มีกฎระเบียบเอื้ออำนวยระหว่างกัน ส่งผลต่อเอสเอ็มอี ให้สามารถเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้และจะต้องมีการเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิตอล-อีคอมเมิร์ซ รวมทั้งจะต้องยืนยันหลักการค้าเสรีในการสนับสนุนกฎเกณฑ์ของ WTO และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานทั้งวัตถุดิบปัจจัยการผลิต การแปรรูป การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วย

นอกจากนั้น ระหว่างอาเซียนด้วยกันก็ได้รับประโยชน์ซึ่งประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งและสามารถเพิ่มจีดีพีของประเทศได้ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทุกระดับโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก เป็นการช่วยเกษตรกรด้วยเพราะช่วยให้ผู้ที่ผลิตพืชผลการเกษตรสามารถมีตลาดส่งออกที่ใหญ่ขึ้น แทนที่จะส่งออกเฉพาะประเทศใกล้เคียงหรือกลุ่มอาเซียนแต่จะเป็นการส่งไปอีก 6 ประเทศด้วยทั้ง จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เป็นต้น