กฟผ.ลุย2โปรเจ็กต์4พันล้าน ลุ้นผู้ชนะ‘โรงไฟฟ้าไฮบริด’ใหญ่สุดในโลก

นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการ ระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
กฟผ.เตรียมเปิดรายชื่อผู้ชนะประมูล 2 โครงการพลังงานทดแทน 4 พันล้าน เผยมีเอกชน 22 ราย ร่วมชิงโซลาร์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร ไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลก

นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยระหว่างศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เขื่อน Alto Rabagao ต้นแบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อน (hydro-floating solar hybrid system) แห่งแรกของโลก ที่ประเทศโปรตุเกส ซึ่งนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ กำลังการผลิต 220 กิโลวัตต์ มาใช้กับการผลิตไฟฟ้าของเขื่อน โดยใช้ทรัพยากรร่วมกัน ได้แก่ หม้อแปลง สายส่ง และสถานีไฟฟ้าแรงสูง เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดรับกับแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP 2018 ที่ กฟผ.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำตามเขื่อนต่าง ๆ รวม 2,725 เมกะวัตต์ นำร่องโครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2563

นายเริงชัยกล่าวว่า โครงการเขื่อนสิรินธรเป็นโครงการพลังงานหมุนเวียนแบบไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นระบบ hydro-floating solar hybrid ระบบนี้ช่วยลดการระเหยของน้ำ เสริมความมั่นคง เพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำ เสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในระบบช่วงกลางคืน เพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์ เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำที่ผิวน้ำ ทั้งนี้ มีผู้ร่วมประมูล 22 ราย คาดว่าการเสนอราคาจะต่ำกว่าราคาที่ กฟผ.จัดสรรงบฯไว้ที่ 2 พันล้านบาท ซึ่งจะรับทราบผลประมูลในเดือนตุลาคมนี้

ขณะที่การคัดเลือกเอกชนผู้ชนะโครงการประมูลการพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (battery energy
storage system : BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ กำลังผลิตไฟฟ้า 16 เมกะวัตต์ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี กำลังผลิตไฟฟ้า 21 เมกะวัตต์ จะประกาศรายชื่อผู้ชนะเร็ว ๆ นี้ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2563 ล่าช้ากว่าแผน 1 ปีครึ่ง เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ใน 11 ราย มีการยื่นคัดค้านผลประมูล จึงต้องชี้แจงตามขั้นตอน โดยผู้ชนะประมูล คือ กลุ่มร่วมทุนจากอินเดียและญี่ปุ่น เสนอใช้แบตเตอรี่จากเกาหลีใต้ เสนอราคาต่ำกว่าราคาตั้งงบประมาณถึงราวร้อยละ 50 จากราคาตั้งงบฯไว้ที่ 2 พันล้านบาท ซึ่งการติดตั้งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ระบบส่งไฟฟ้าสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต