“บิ๊กป้อม”มอบนโยบายสทนช. ตั้งวอร์รูมรับมือน้ำถึงปีหน้า

พล.อ.​ประ​วิตร วงษ์​สุวรรณ รอง​นายกฯ​และ รมว.​กลาโหม ชู​นิ้ว​เป็น​สัญลักษณ์​เลข 24 เพื่อ​ยืนยัน​ว่า​มี​การ​เลือกตั้ง​ใน​วัน​ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ระหว่าง​แถลงข่าว​กับ​สื่อมวลชน ที่​กระทรวง​กลาโหม เมื่อ​วัน​ที่ 27 พฤศจิกายน 2561

นัดแรก “บิ๊กป้อม” มอบนโยบาย สทนช. เน้น 7 ด้าน รับสภาวะอากาศผันผวน สั่งตั้ง “วอร์รูม” ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมและวางแผนรับมือภัยแล้งปีหน้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมามอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ใน 7 ด้าน ได้แก่

(1) ให้ สทนช.ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการลุ่มน้ำครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1-4

(2) ขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ไปสู่แผนแม่บทลุ่มน้ำและแผนการปฏิบัติในระดับลุ่มน้ำ

(3) ติดตามและประเมินผลแผนงาน โครงการ และงบประมาณการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานปฏิบัติด้านน้ำทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 40 หน่วยงาน

(4) อำนวยการ กำกับขับเคลื่อนโครงการสำคัญระดับชาติ หรือโครงการเร่งด่วนที่ต้องมีการประสานงานกับหลายหน่วยงาน

(5) กำกับ ดูแล การบริหารจัดการระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ

(6) ส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคเอกชน ประชาชน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์ และการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

(7) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ มาใช้ในการพัฒนาและบริหารทรัพยากรน้ำ

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตรยังให้ สทนช.เร่งตั้งศูนย์เฉพาะกิจเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จากอิทธิพลพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” โดยให้ สทนช.บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนระบายน้ำให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและแจ้งเตือนพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบล่วงหน้า ให้ขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารบังคับน้ำที่มีอยู่ให้สามารถใช้การได้ตามปกติ

ตลอดจนใช้อาคารบังคับน้ำที่มีอยู่บริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น จัดจราจรน้ำ หน่วงน้ำ ผันน้ำเพื่อเลี่ยงพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชน นอกจากนั้น ให้พิจารณาใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ แก้มลิง และพื้นที่เกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้ว เป็นพื้นที่รับน้ำเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านล่าง ตลอดจนให้ศูนย์นี้วางแผนแก้ปัญหาภัยแล้งแต่ละลุ่มน้ำทั่วประเทศในฤดูร้อนหน้านี้ด้วย

ซึ่งนายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสทนช. พร้อมที่จะรับไปดำเนินการในการวางแผนรับมือภัยแล้งปีหน้าในแต่ละลุ่มน้ำที่แตกต่างกันไป ตามปริมาณน้ำที่คาดว่าสิ้นเดือนตุลาคมนี้จะสามารถสรุปแผนดำเนินงานได้ในแต่ละลุ่มน้ำว่าจะมีเพียงพอต่อการจัดสรรให้พื้นที่การเกษตรมากน้อยเพียงใด