ผู้เลี้ยงปลากะพงขาวร้องกรมประมง ช่วยสกัดปลากะพงมาเลย์ดัมพ์ตลาดไทย

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงขาวเมื่อวันที่ 11 ก.ย.นี้ว่า สาเหตุปลากะพงขาวไทยตกต่ำ มาจากการเปิดเสรีทางการค้าFTA ทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดทะลักเข้ามาในประเทศ โดยในส่วนปลากะพงขาวช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไทยมีแนวโน้มการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซียจากไตรมาสละ 500 ตัน เพิ่มเป็นไตรมาสละ 2,000 ตัน เพราะมีการเพิ่มการเลี้ยงจาก 500 บ่อ เป็น 2,000 บ่อ มีการขนส่งด้วยรถบรรทุกห้องเย็นมาจำหน่ายตั้งแต่ภาคใต้จนถึงนครสวรรค์ โดยขายให้แพปลาก่อนกระจายให้ผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดในราคา กก.ละ 70 บาท ขายในไซส์ขนาด 700-900 กรัมต่อตัว ขณะที่ราคาปลากะพงขาวของเกษตรกรไทยที่จำหน่ายราคาปากบ่อ กก.ละ 80-85 บาท เท่ากับต้นทุนที่เลี้ยง เกษตรกรต้องการขายในราคาไม่ต่ำกว่า กก.ละ 100 บาท เพื่อให้อยู่ได้ จึงต้องการให้ภาครัฐยกเลิกการนำเข้าเป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากเกษตรกรไทยรวบรวมตัวเลขปลากะพงขาวที่อยู่ในบ่อเบื้องต้นมาให้แล้วมีไม่ต่ำกว่า 6,000 ตัน

“อัตราแลกเปลี่ยนเงิน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ทำให้ผู้ส่งออกประเทศเพื่อนบ้านได้กำไรจากส่วนต่างของค่าเงิน ถึงแม้ว่าต้นทุนการผลิตปลาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะใกล้เคียงกัน ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้ปลากะพงขาวถูกส่งมาขายให้กับไทย จากเดิมปลากะพงขาวที่เพาะเลี้ยงในไทยก็เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว จึงเกิดภาวะล้นตลาด”

ดังนั้น ปัญหาต่างๆเหล่านี้ ต้องมีการหารือกันกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ โดยเบื้องต้น ในส่วนของกรมประมงเตรียมจัดโครงการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ จัดกิจกรรมรณรงค์เชิญชวนกินปลากะพงไทย คุณภาพดีได้มาตรฐาน GAP ไร้สารตกค้างและราคาถูก เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงคุณภาพปลากะพงขาวของไทยให้กับผู้บริโภคได้ทราบในปลายเดือนนี้เป็นต้นไป ที่จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา จ.ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร อีกทั้งกรมประมงได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ด่านชายแดนให้เพิ่มความเข้มงวดด้านสุขอนามัยสำหรับปลากะพงขาวที่นำเข้ามา ได้แก่ การตรวจสารตกค้างและการสุ่มตรวจโรค เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น การหารือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อตรวจสอบว่ามีการทุ่มตลาด(AD )ปลาเข้ามาในไทยหรือไม่

นอกจากนี้ในส่วนการผลิต กรมประมงจะมีการหารือแนวทางบริหารจัดการผลผลิตปลากะพงขาว เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา อาทิ การส่งเสริมระบบบริหารการผลิตให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่มากขึ้น จากที่มีอยู่ 3กลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งภาครัฐจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนได้เต็มที่ ในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ตั้งแต่เรื่องพ่อแม่พันธุ์ที่แข็งแรง การวางแผนการผลิตและจำหน่ายให้สอดคล้องกับความต้องการตลาดแต่ละช่วง และจะมีการลดการผลิตลูกพันธุ์ลงให้สมดุลกับปริมาณความต้องการปลาเนื้อในประเทศ อธิบดีกรมประมงกล่าว