เปิดใจ “ทูตพาณิชย์สหรัฐ” ทัพหน้าฝ่าด่านสงครามการค้า

ขวัญนภา ผิวนิล

การส่งออกของประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรกปรากฏติดลบ 1.9% แม้ว่าสหรัฐจะเป็นเพียงตลาดที่เติบโตสวนทางตลาดอื่นโดยยอดส่งออกขยายตัว 16% แต่ “ไส้ใน” กลับพบว่ามีรายการส่งอาวุธที่นำเข้ามาใช้ในการฝึกร่วมออกไปจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปทั่ว ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ”

สัมภาษณ์ “นางขวัญนภา ผิวนิล” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำลอสแองเจลีส สหรัฐ ถึงทิศทางการส่งออกและกลยุทธ์เพื่อผลักดันการส่งออกในปี 2563

ตลาดสหรัฐบวกแค่ 4%

เราตั้งเป้าหมายไว้ว่าตลาดสหรัฐปีนี้จะขยายตัว 3-4% โดยในช่วง 7 เดือนแรกโตถึง 16% หากหักลบตัวเลขการส่งออกอาวุธซึ่งจะมีเพียงลอตเดียวออกไป ตลาดสหรัฐก็ยังขยายตัว 4% ส่วนปีหน้าตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบคาดการณ์ว่าการส่งออกไทยในปี 2563 จะขยายตัว 3.5% นั้น ในส่วนของ สคต.สหรัฐจะพยายามผลักดันการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐให้ได้ประมาณ 3%

โดยในช่วงที่เหลือจากนี้ทั้ง 4 สำนักงานพาณิชย์สหรัฐ (นิวยอร์ก-ชิคาโก-แอลเอ-ฟลอริดา) ได้ช่วยกันเตรียมแผนผลักดันการส่งออกไปจนถึงปี 2563 แล้ว ซึ่งในส่วน สคต. แอลเอ จะดูแลครอบคลุม 14 รัฐด้านตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งจะมีท่าเรือหลัก 2 ท่า คือ แอลเอกับลองบริดจ์ ซึ่งเป็นท่าเรือหลักที่มีการนำเข้าอาหารจากไทยจำนวนมาก

ผลสงครามการค้า

เทรดวอร์มีทั้งบวกและลบต่อตลาดอเมริกาและการส่งออกของไทย เนื่องจากเทรดวอร์มีผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจอเมริกาค่อนข้างสูง ปีนี้อาจไม่เห็นชัด แต่จะเห็นชัดคือในปี 2563 เดิมรัฐบาลสหรัฐประกาศว่า GDP ปีที่แล้วขยายตัว 3% แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริงตัวเลขที่ทบทวนใหม่ภายหลังพบว่า จริง ๆ แล้วโตแค่ 2.5% เท่านั้นถือว่าธรรมดา ส่วนในปี 2562 คาดว่าจะโตแค่ 2.3% และในปีหน้าจะชะลอตัวลง 2.1%

แม้ว่าสหรัฐจะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่เหมือนเมืองไทยที่เศรษฐกิจจะคึกคักช่วงเลือกตั้ง ประกอบกับยังมีตัวเลขอีกหลายตัวที่โชว์ว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้แข็งแรง เช่น ตัวเลขการจ้างงาน ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนต่อรัฐ แม้ว่าการว่างงานต่ำแต่ต้องดูเนื้อแท้หลาย ๆ ข้างในรายละเอียด โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานในรัฐที่เป็นฐานการผลิตของอเมริกามันลดลงอย่างน่ากลัวและอันตราย รัฐเหล่านี้เป็นฐานเสียงของพรรครีพับลิกันด้วย เช่น วิสคอนซิน-เพนซิลเวเนีย ประเด็นนี้จึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเอกชนและผู้บริโภค ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นและการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง

เกาะติดเลือกตั้งสหรัฐ

การเลือกตั้งสหรัฐจึงมีประเด็นที่น่าสนใจว่าใครจะมาแล้ว และมาแล้วจะมีผลต่อทิศทางนโยบายสหรัฐอย่างไร ทั้งการเมือง-การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังดูได้ยากเพราะยังไม่รู้ว่าฝั่งเดโมแครตส่งใคร คงต้องรอจนถึงช่วง primary ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้จะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวในสหรัฐประเมินว่ามีโอกาส50 : 50 ที่รัฐบาลทรัมป์จะได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้ง เพราะทรัมป์มีนโยบายกระตุ้นลงทุน แต่ก็อย่างที่ทราบมีตัวเลขที่ย้อนแย้ง คือ การจ้างงานในรัฐฐานเสียงลดลงสะท้อนว่าสิ่งที่เขาทำอยู่อาจไม่ได้ส่งผลดี 100%

ส้มหล่นล้อยางไทย

ปีนี้ไทยยังโชคดีที่ผู้นำเข้าสหรัฐทยอยนำเข้าสินค้าไปสต๊อกเก็บไว้แล้ว (ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลในสงครามการค้า) ไทยยังได้อานิสงส์ แต่ปีหน้าสต๊อกพื้นที่และแคชโฟลว์อาจไม่มีเหลือแล้ว ต้องลุ้นว่าปีหน้าจะมีสินค้าบางส่วนที่สต๊อกไว้หมดจนต้องเริ่มนำเข้าใหม่หรือไม่ จากที่ดูตัวเลขแล้วก็กังวลเพราะมีสินค้าหลายตัวที่เขานำเข้าจากจีนมากและยังมีเวียดนามที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน นักลงทุนอเมริกามักนึกถึงการลงทุนที่เวียดนามและประเทศอาเซียนอื่น ๆ และมีการนำเข้าจากเวียดนามมากขึ้น 30-40% ในหลายรายการ เช่น สิ่งทอ เครื่องจักร (หมวด 85-84) และอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากขึ้น ประเด็นนี้ทำให้ในช่วงหลังสหรัฐก็หันไปจับมองการขาดดุลการค้ากับเวียดนามเช่นกัน ทำให้เวียดนามต้องเข้มเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของไทยตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้น 4% มาจากสินค้ายางล้อ เราพบว่าหลังจากที่สหรัฐปรับขึ้นภาษีล้อยางจีน ทางบริษัทยางรถยนต์ เช่น บริดจสโตน-มิชลิน ของสหรัฐ ก็โยกคำสั่งซื้อล้อยางมาที่ประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่า 50% ของผลิตภัณฑ์ยางที่สหรัฐนำเข้าจากไทย แม้ว่าผู้ผลิตยางในไทยหลายรายจะเป็นนักลงทุนจีน แต่ก็เป็นการย้ายฐานการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย ไม่ใช่การสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าประเด็นนี้จึงไม่น่าห่วง และอีกด้านหนึ่งไทยก็มีการนำเข้าจากอเมริกา และมีนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในอเมริกาหลายราย เช่น ปตท.สผ. ก็เข้าไปลงทุน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เสริมสร้างความสมดุลซึ่งกันและกันไม่ใช่ไทยได้ดุลสหรัฐเพียงฝ่ายเดียว

ดึงเชฟ Thai Select โปรโมตข้าวหอมมะลิ

การแข่งขันกับสินค้าเวียดนามที่อยู่ในซัพพลายเชนสหรัฐอาจทำได้ยาก เพราะหลายอย่างขึ้นกับปัจจัยนโยบายบริษัทแม่ที่เข้าไปลงทุน แต่เรามั่นใจว่าถ้าเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเราพอแข่งขันได้ ดังนั้นจึงต้องเน้นประชาสัมพันธ์สินค้ากลุ่มนี้ไปยังผู้บริโภค

ในปีหน้าเราโฟกัสการทำตลาดไปที่ธุรกิจบริการร้านอาหารไทยซีเลกต์ (Thai Select) เพื่อใช้เป็นประตูโปรโมตการส่งออกอาหาร-ข้าว-วัตถุดิบ-เครื่องปรุง ปัจจุบันมีร้านไทยซีเลกต์ในสหรัฐประมาณ 400 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นปีละ 10% หรือประมาณ 40 แห่ง

พร้อมกันนี้ เรายังสร้างการรับรู้สินค้า “ข้าวหอมมะลิ” เพราะเป็น top 15 สินค้าส่งออกหลักของไทย ข้าวเป็นเบอร์ 1 ครองส่วนแบ่งตลาด 60% โดยเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z อายุต่ำกว่า 22 ปี ซึ่งจะไม่ค่อยรู้จักอาหารไทย

โดยแนวทางการกระตุ้นตลาดข้าวหอมมะลิจะใช้การจัดทำ “rice edutainment” ซึ่งมี 3 ส่วน คือ 1) ดิจิทัลแอด โดยผนึกกำลังกับเชฟร้านไทยซีเลกต์ในพื้นที่ที่มีชื่อเสียงมาช่วยรีวิวโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ขณะนี้มีเชฟไทยซีเลกต์เข้ารวม 5 ราย โดยเรื่องออร์แกนิกมีผู้ชม 500,000 วิว 2) การเจาะกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ที่อายุต่ำกว่า 22 ปี ใช้ Google expedition สร้าง story แบบ 3 มิติ เรื่อง “Rice Culture” กระตุ้นให้โรงเรียนต่าง ๆ ในอเมริกาสร้างการรับรู้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นลักษณะซอฟต์แอด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอกูเกิลพิจารณาอนุมัติ

และ 3) วิดีโอ Cooking Tutorial โดยเชฟไทยซีเลกต์ ความยาว 1-3 นาที โพสต์บน YouTube เจาะกลุ่มที่ชอบอาหาร (foody) โดยเลือกเมนูอาหารที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ เช่น ข้าวยำ ข้าวมันไก่ เพลย่าเป็นอาหารเม็กซิกันแต่ใช้ข้าวไทย นอกจากนี้ ผู้นำเข้าข้าวยังร่วมกับผู้ส่งออกไทย เช่น โรงสีสุวรรณภูมิ แบรนด์ Prime จำหน่ายข้าวออร์แกนิก ข้าวตราฉัตร และข้าวหงษ์ทอง ช่วยกันโปรโมตด้วย

ขายธุรกิจบันเทิงครบวงจร

ธุรกิจบริการด้านคอนเทนต์แอนิเมชั่นและภาพยนตร์ จัดเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ดี เราจึงได้เตรียมนำคณะภาคเอกชนเข้าร่วมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในงาน American Film Market ซึ่งจะจัดขึ้นที่ซานตาโมนิการะหว่าง 6-13 พฤศจิกายนนี้

โดยจะมีผู้ประกอบการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบันเทิง-ภาพยนตร์เข้าร่วม เช่น กันตนา, สหมงคลฟิล์ม, เบนีโทน โดยปีนี้คาดว่าจะผลักดันยอดขายเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ทำได้ 1,875 ล้านบาท