เลิกคุมนำเข้า”แทรกเตอร์เก่า” รถมือสองไม่รอด-แห่นำเข้าก่อนสิ้นปี’62

ชาวไร่อ้อยผนึกผู้นำเข้ารถแทรกเตอร์มือสองร้อง “ทบทวน” ประกาศห้ามนำเข้ารถมือสอง อ้างต้นทุนทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น “จุรินทร์” สั่งกรมการค้าต่างประเทศเรียกประชุมด่วน ยอมเว้นพิกัดรถแทรกเตอร์มือสอง (8701) จำนวน 6 พิกัดให้ ด้านกลุ่มผู้นำเข้ารถเก๋ง-รถบรรทุกเก่าระแคะระคายแห่นำเข้า 7 เดือนยอดพุ่ง 7,000 ล้านบาท

ยังไม่ทันที่ประกาศกรมการค้าต่างประเทศเรื่อง กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกร-ชาวไร่อ้อยและผู้นำเข้ารถแทรกเตอร์มือสองก็ออกมาเรียกร้องขอให้พิจารณา “ทบทวน” การควบคุมสินค้ารถยนต์ใช้แล้วตามพิกัดอัตราศุลกากร 8701, 8702, 8703, 8704 และ 8705 และรถยนต์ใช้แล้วที่มีอายุเกิน 100 ปีขึ้นไป (รถโบราณ) ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 9706 เนื่องจากรถแทรกเตอร์อยู่ในหมวด 8701 ถูกห้ามนำเข้าตามไปด้วย ส่งผลให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น จนเป็นที่มาให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการด่วนให้กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาทบทวนประกาศฉบับนี้

ล่าสุด นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เตรียมออกประกาศเรื่อง กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. … โดยกำหนดให้รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบล้อยางเพื่อการเกษตรสำเร็จรูปเต็มคันเฉพาะพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 8701.30.00 (รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบเฉพาะล้อยาง), พิกัด 9701.91.10 (รถแทรกเตอร์กำลังเครื่องยนต์ไม่เกิน 18 กิโลวัตต์), พิกัด 8701.92.10 (รถแทรกเตอร์กำลังเครื่องยนต์เกิน 18-37 กิโลวัตต์), พิกัด 8701.93.10 (รถแทรกเตอร์กำลังเครื่องยนต์เกิน 37-75 กิโลวัตต์), พิกัด 8701.94.10 (รถแทรกเตอร์กำลังเครื่องยนต์เกิน 75-130 กิโลวัตต์) และพิกัด 8701.95.10 (รถแทรกเตอร์กำลังเครื่องยนต์เกิน 130 กิโลวัตต์) สามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้

“เราได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 22 หน่วยงานโดยที่ประชุมมีมติให้รถแทรกเตอร์ใช้แล้วเพื่อการเกษตรเฉพาะที่อยู่ภายใต้พิกัดศุลกากร 8701 จำนวน 6 ประเภทข้างต้นสามารถนำเข้าได้ และเตรียมออกประกาศควบคุมการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วดังกล่าว แต่เพื่อความรอบคอบขอให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศผ่านทางเว็บไซต์ www.dft.go.th ของกรมด้วย”

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ตรวจสอบยอดการนำเข้ารถยนต์ใช้แล้วตามพิกัด 8701, 8702, 8703, 8704 และ 8705 เฉพาะช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค. 2562) ปรากฏมียอดนำเข้า 42,170 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,184 ล้านบาท จากปีก่อนที่นำเข้า 34,986 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่ม 8703 รถยนต์นั่งบุคคล เพิ่มขึ้นถึง 2,886 ล้านบาท จาก 21,439 ล้านบาท เป็น 24,325 ล้านบาท กลุ่ม 8704 รถยนต์บรรทุก เพิ่มขึ้น 2,003 ล้านบาท จากปีก่อน 2,606 ล้านบาท เป็น 4,609 ล้านบาท กลุ่ม 8702 ยานยนต์สําหรับขนส่งบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป (รวมถึงคนขับ) เพิ่มขึ้น 1,555 ล้านบาท จาก 4,736 ล้านบาท เป็น 6,291 ล้านบาท กลุ่ม 8705 ยานยนต์เฉพาะวัตถุประสงค์ เพิ่มขึ้น 584 ล้านบาท จาก 2,708 ล้านบาท เป็น 3,292 ล้านบาท และกลุ่ม 8701 รถแทรกเตอร์เพิ่มขึ้น 156 ล้านบาท จาก 3,497 ล้านบาท เป็น 3,653 ล้านบาท