จุรินทร์ มั่นใจ CLMVT ต้องร่วมกันเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่ยุคใหม่ ดันการค้าภายใต้สงครามศก.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในวันนี้ (13 กันยายน 2562) ตนนำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ค้าชายแดนเพื่อต้องการผลักดันการค้าชายแดนและร่วมกันหารือเพื่อลดปัญหาและอุปสรรคะหว่างกันโดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร-สะหวันนะเขต

ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ต่อเนื่องในการส่งเสริมการผลักดันการค้าชายแดน นอกจากนี้ ในงานยังจัดให้มีการลงนามเอ็มโออยู่ระหว่างเอกชนไทย-สปป.ลาว เพื่อผลักดันการค้า พร้อมยังจัดให้มีการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนไทย.ลาว ด้วย

นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับนักธุรกิจ CLMVT ถึงลู่ทางการขยายการค้าการลงทุน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือระหว่างกันด้วย อย่างไรก็ดี ภูมิภาค CLMVT ยังมีข้อจำกัดด้านผลิตภาพและการสร้างมูลค่า ที่ต้องเผชิญกับกฎระเบียบทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น

ทั้งกฎระเบียบในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค คุณภาพผลิตภัณฑ์ การปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมถึงแรงกดดันจากการขยายตัวของเทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัล ภูมิภาค CLMVT จึงจำเป็นต้องยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของภูมิภาค เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงอยู่ในเครือข่ายการผลิตของโลกได้ต่อไป

และที่ผ่านมาการประชุมเศรษฐกิจอาเซียน Rcep ASEAN+6 ASEAN+3 โดยเล็งเห็นว่า CLMVT มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็ง ไม่ใช่เฉพาะในภูมิภาค แต่ต้องขยายความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้มแข็งไปสู่ภูมิภาคและโลกด้วย

ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องจับมือไปด้วยกัน เพื่อก้าวสู่การขยายตัวทั้งการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นหัวใจหลักของการส่งออก หากเราดำเนินการตามนั้นได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อ CLMVT ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

ทางผู้ประกอบการในภูมิภาค CLMVT ต้องเร่งปรับปรุงวิธีการผลิตให้ทันสมัยและสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาประสิทธิภาพของภาคบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการขนส่งและส่วนโลจิสติกส์ บริการค้าปลีกและค้าส่ง บริการธุรกิจ และบริการทางการเงิน ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่สำคัญ

กลุ่ม CLMVT จึงควรร่วมมือกันในการกำหนดทิศทางอนาคตของภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง และสานต่อความเชื่อมโยงกับนานาประเทศโดยรอบแบบไร้รอยต่อ เพื่อปรับตัว รองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

สำหรับจำนวนประชากรในกลุ่ม CLMVT รวมกันกว่า 242 ล้านคน มูลค่า GDP รวมกันได้ 863,859 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 5 ปี (2557 – 2561) ที่ 4.83% ประกอบกับมีการจัดทำข้อตกลงทางการค้า และการลงทุนของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ทำให้ภูมิภาค CLMVT มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นในเครือข่ายการผลิตของอาเซียนและเอเชีย

และกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลกอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และแม้เศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนและไม่แน่นอน แต่ภูมิภาค CLMVT ต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพเพื่อเอาชนะความท้าทายของเศรษฐกิจโลกด้วยกัน

​นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำนักฯได้จัดงานอบรมสัมมนาบุคลากรภาครัฐและเอกชนของ CLMVT ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับธุรกิจห่วงโซ่คุณค่าสากล “CLMVT Adapt to Global Value Chain” และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการค้าชายแดนภูมิภาค CLMV ที่เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกหลักของไทยและมีศักยภาพสูง

ในงานสัมมนานี้ยังประกอบไปด้วยการจัดอบรมสัมมนาบุคลากรภาครัฐและเอกชนของ CLMVT ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2562 เป็นการต่อยอดความสำเร็จของการจัดงาน CLMVT Forum 2019 CLMVT as the New Value Chain Hub of Asia เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลักดันให้ CLMVT เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่ายุคใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากภูมิภาค CLMVT เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าการลงทุนที่น่าสนใจที่สุดในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก ทั้งในแง่ของการตั้งอยู่ใจกลางจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และมีทุนมนุษย์ที่มีความรู้ความสามารถ
การจัดอบรมสัมมนาตลอดทั้ง 5 วันนี้ มีผู้สนใจ เข้าร่วมงานกว่า 200 คน

โดยจะช่วยติดอาวุธและสร้างเครือข่าย ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางการพัฒนาบุคคลากร ผู้บริหารผู้ประกอบการ ในกลุ่มประเทศ CLMVT ให้มีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ มูลค่าการค้า CLMVT ในช่วงระยะเวลา 7 เดือน (มกราคม – กรกฎาคม) ของปี 2562 มีมูลค่า 806 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.67% โดยเป็นการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ (มาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) มูลค่า 646 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.46% และ การค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ (สิงคโปร จีนตอนใต้ และ เวียดนาม) มูลค่า 159,948.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.85%

ทั้งนี้ การค้าชายแดน มาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ขณะที่การค้าผ่านแดนจีนตอนใต้มีมูลค่าสูงสุด รองลงมาคือ เวียดนาม และสิงคโปร์