‘กลินท์’นำทัพพบอุตตม ชง 7 ข้อเสนอหอการค้าไทย ผลักดันเศรษฐกิจ การค้า – ลงทุน – บริการ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการนำคณะกรรมการเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ดร.อุตตม สาวนายน) เพื่อนำเสนอมุมมองข้อเสนอของภาคเอกชนต่อการผลักดันเศรษฐกิจของประทศ โดยมีข้อเสนอประกอบด้วย

1. การส่งเสริมการท่องเที่ยว เสนอให้มีการจัดตั้งจุดรับคืนภาษีในเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Downtown VAT Refund) เป็นแบบถาวร และออกมาตรการทางภาษีสำหรับการปรับปรุงโรงแรมและห้องพักเก่า (Renovate) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว

2. การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ขอให้ขับเคลื่อนและพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบ NSW (National Single Window) อย่างสมบูรณ์ โดยมีกรมศุลกากรทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก และขอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน

3. เร่งออกระเบียบปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีการเตรียมความพร้อมก่อนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

4. การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจพาณิชยนาวี อาทิ ด้านการถ่ายลำและผ่านแดน เพื่อให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็น ASEAN GATEWAY การพิจารณามาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจพาณิชยนาวี วงเงิน 18,000 ล้านบาท ให้มีผลในทางปฏิบัติอีกครั้งหนึ่ง และขอให้กรมศุลกากรร่วมกับภาคเอกชน โดยหอการค้าไทย ศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการพิจารณาอนุญาตใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ มาขนส่งในประเทศ

นอกจากนั้น ยังขอให้กรมสรรพากรเชิญผู้แทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นต่อการปรับปรุงประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรฯ เพื่อให้มีความชัดเจนและปฏิบัติได้จริง

พร้อมทั้งขอให้แจ้งแนวปฏิบัติด้านการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศตามสัญญาแบบ Time Charter Party ให้ภาคเอกชนได้รับทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อแนวปฏิบัติที่ชัดเจนร่วมกัน รวมถึงขอให้กรมฯ ศึกษารายละเอียดและแนวปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิจารณาภาษีสำหรับเรือ Super Yacht ต่างชาติ เพื่อบรรเทาผลกระทบกรณีที่ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระต้นทุนระหว่างการขอคืนภาษี

5. การสนับสนุนงบประมาณดำเนินมาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้กรมบัญชีกลางดำเนินโครงการฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปี 2563 อาทิ โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST)

6. การร่วมแก้ไขปัญหาจากการจัดเก็บภาษีและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยขอให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (กกร.ร่วมกับกระทรวงการคลัง)

7. การส่งเสริมการค้าชายแดนและข้ามแดน เสนอให้กรมศุลกากรพิจารณาขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถขนส่งสินค้าและแก้ปัญหารถแออัดบริเวณหน้าด่านชายแดน ประกอบด้วย ด่านช่องสะงำ (ศรีษะเกษ) ด่านสะพานข้ามแม่น้ำแม่สาย (เชียงราย) ด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 (ตาก) ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย) ด่านมุกดาหาร(มุกดาหาร) ด่านช่องเม็ก (อุบลราชธานี) ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม) และด่านท่าลี่ (เลย)

นายกลินท์ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับข้อเสนอของหอการค้าไทย โดยจะให้มีการประสานงานและติดตามความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังขอให้ภาคเอกชนและหอการค้าไทย ช่วยประชาสัมพันธ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ชิม ช็อป ใช้)

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาล เพื่อทำให้นโยบายต่าง ๆ สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประชาชน สังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติต่อไป