BGRIM ผู้นำอาเซียน คิกออฟโรงไฟฟ้า DAU TIENG

เป็นที่ทราบดีว่าทิศทางของธุรกิจพลังงานต่างมุ่งสู่การพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อสอดคล้องกับเทรนด์โลก บี.กริม เพาเวอร์ หรือ “BGRIM” เริ่มรุกขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศต่อเนื่อง ล่าสุดได้ปักธงสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดในอาเซียน ณ เมืองเตนินห์ ตอนใต้ประเทศเวียดนาม อย่างเป็นทางการ

ปักธงโซลาร์เซลล์เวียดนาม

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม กล่าวว่า สาธารณรัฐเวียดนามนั้นถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพการลงทุนสูง ด้วยการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวกว่า 6-7% ต่อปี และมีการสนับสนุนด้านพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับนโยบายพลังงานทดแทนอย่างมาก จึงเป็นโอกาสและจังหวะที่เหมาะสมในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 ที่เวียดนาม ซึ่งนับว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นก้าวสำคัญของการเป็นผู้นำกลุ่ม บี.กริม ที่ร่วมบุกเบิกด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคมากว่า 141 ปี

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินโครงการ DAU TIENG 1 และ DAU TIENG 2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 420 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ Electricity of Vietnam (EVN) แล้วเมื่อวันที่ 3 และ 13 มิถุนายน 2562 ตามลำดับ ด้วยสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 9.35 เซนต์ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง สร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงเป็นระยะเวลา 20 ปี สัญญาระยะยาว 20 ปี

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 บี.กริม เพาเวอร์ “BGRIM” ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen TTP ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 257 เมกะวัตต์ ทำให้ บี.กริมเพาเวอร์ มีกำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมกว่า 677 เมกะวัตต์ สร้างรายได้ให้บริษัทแล้ว 181 ล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2562 และแม้จะเพิ่งเปิดดำเนินการในระหว่างเดือนก็ส่งผลให้กำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการแล้วของ บี.กริม เพาเวอร์ “BGRIM” เติบโตกว่า 40% จากช่วงต้นปี โดยมีสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 30% จากเดิม 8%

จุดเด่นเวียดนาม

ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนพลังงานทดแทนกว่า 1 แสนเมกะวัตต์ภายใน 20 ปี จึงเป็นโอกาสที่ทำให้ตัดสินใจเข้าไปลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์เต็มที่ และหากมองภาพรวมจากการเติบโตจีดีพี 7% ในปีที่ผ่านมานั้น ด้วยตัวเลขพลเมืองเกือบ 100 ล้านคน ที่มีคนหนุ่มสาว ขณะที่ประเทศอื่นเช่น ไทย และหลายประเทศของภูมิภาคกลับลดลง หรือเรียกได้ว่าเข้าสู่สังคมที่มีประชากรสูงอายุ senier citizen มาก ทำให้เป็นอีกปัจจัยหลักที่เข้าไปลงทุนเวียดนาม และรีพอร์ตจากออสเตรเลียได้ให้รายงานว่า บี.กริมลงทุนพลังงานทดแทนเวียดนามแห่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

“ถามว่าทำไมถึงสนใจเวียดนาม ต้องยอมรับว่านโยบายด้านพลังงานของเวียดนามมุ่งเน้นไปที่เรื่องของพลังงานทดแทนถึง 21% ซึ่งจีดีพีและการเติบโตของเวียดนามชัดเจนมาก โดยเฉพาะความต้องการใช้ไฟฟ้าของเวียดนามใต้มีความต้องการใช้ไฟอีกมาก ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะล้อไปกับการลงทุนของเราด้วย”

เปิดแผนลงทุน 38,000 ล้าน

นอกจากนี้ “BGRIM” ยังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการโรงไฟฟ้าในอีกหลายประเทศทั้งใน เวียดนาม ที่จะเพิ่มกำลังผลิตเร็ว ๆ นี้ ประมาณ 120 เมกะวัตต์ รวมถึงมาเลเซีย ที่อยู่ระหว่างศึกษาก๊าซ สปป.ลาวเป็นเรื่องของพลังน้ำ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เป็นการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (รูฟท็อป) ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง บี.กริมมุ่งเน้นด้านพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทนเป็นหลัก

โดยมีเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนไปสู่เป้าหมายของสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 ซึ่งประเมินเบื้องต้นว่าจะใช้งบประมาณลงทุนไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาท (จากเดิม) โดยมีสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศ 25% ในประเทศ 75% และหากอนาคตเป็นไปตามเป้าหมายการซื้อขายดังกล่าว คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศอีก 5% เป็น 30% ด้วย

ขณะเดียวกัน ปีนี้และปีหน้า 2563 จะเห็นการลงทุนใหม่ ๆ ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนต่อเนื่อง โดยล่าสุดที่ได้เริ่มสัญญาการลงทุนพลังงานลม ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับเกาหลีใต้ Korean Midland Power Co.,Ltd. (KOMIPO)

“เกาหลีใต้สนใจร่วมกับเรามาก เรามีพันธมิตรที่ดีมาก ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะเราเป็นบริษัทขนาดกลางที่มีธรรมาภิบาลสูง จึงสนใจร่วมทุน ดังนั้น เรียกได้ว่าต่างประเทศเรามุ่งทั้งหมดให้พลังงานสะอาด เราจะไม่ไปถ่านหินแน่นอน ยังไม่มีความสนใจถ่านหิน เพราะจุดแข็งเราคือ renewable”

ลุยโรงไฟฟ้าขยะ 5 MW

สำหรับในประเทศ บริษัทยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 โดยจะส่งผลให้สิ้นปีนี้จะมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 46 โครงการ

โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 17 โครงการ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 24 โครงการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 โครงการ โครงการขยะอุตสาหกรรม 1 โครงการ และโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซล 1 โครงการ มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,896 เมกะวัตต์ ดังนั้น จะส่งผลให้รายได้ BGRIM ในปีนี้เติบโตตามเป้าหมาย 15-20%

ศึกษาโอกาสลงทุนนำเข้า LNG

ส่วนมุมมองนโยบายรัฐขณะนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐบาล อาทิ การส่งเสริม energy system ที่สามารถขยายได้อีกมาก แต่ช่วงเวลานี้เศรษฐกิจไทยยังไม่ขยายมากนัก ส่งผลต่อการลงทุนด้านพลังงานจากหลายปัจจัย ซึ่ง บี.กริมมองทุกโอกาสที่สามารถทำได้หมด แต่ยังคงเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งโรงไฟฟ้า SPP และ 7 โรงไฟฟ้าที่มี ที่นับเป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในประเทศอย่างแท้จริง ส่วนนโยบายอื่น ๆ รัฐบาลได้เริ่มสนับสนุนพลังงานทางเลือกมากขึ้น เป็นแนวโน้มที่ดี ซึ่งปีนี้ได้ลงทุนใหม่ เช่น ไบโอแมส 5 เมกะวัตต์ ที่ จ.ราชบุรี


“บี.กริมต้องเรียนรู้อีกเยอะ ควบคู่ไปกับก๊าซ ดังนั้นยังมีความสนใจในไทยในหลายโครงการ เช่น LNG หากมีการเปิดเสรีก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะทำให้ บี.กริมขยายได้อีกเช่นกัน ดังนั้น รัฐบาลต้องตอบโจทย์ให้สอดคล้องกันทั้งการส่งเสริมกระตุ้นให้เอกชนลงทุน และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน” นางปรียนาถกล่าวสรุป