“บาทแข็ง-เทรดวอร์-ราคาน้ำมัน-น้ำท่วม” ฉุดดัชนีเชื่อมั่นฯ ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เหตุเงินบาทแข็งค่า สงครามการค้า  ราคาน้ำมันพุ่ง แถวเจอวิกฤตน้ำท่วมฉุดอีก ลุ้นไตรมาส 4 มาตรการรัฐกระตุ้นการใช้จ่าย เปิดตัวสินค้าใหม่ ธุรกิจจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนกรกฎาคม และต่ำสุดในรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 โดยพบว่ามีสาเหตุมาจากผู้ประกอบการ มีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลงเกือบทุกภูมิภาค

เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการมีภาวะการแข่งขันสูง ขณะที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออก ประกอบกับปลายเดือนสิงหาคมเกิดสถานการณ์พายุฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ และมีการเปิดสงครามการค้ารอบใหม่ แม้จีนจะปรับลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ไปแล้ว 16 รายการ แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนได้

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 102.9 โดยเพิ่มขึ้นจาก 102.3 ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ผู้ประกอบการคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 จะมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ของผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศของภาครัฐ คาดว่าจะส่งผลดีต่อยอดขายและยอดคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ

สำหรับด้านปัจจัยราคาน้ำมันภายหลังจากเกิด “เหตุโจมตีแหล่งน้ำมัน 2 แห่งในประเทศซาอุดิอาระเบีย” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อการผลิตน้ำมันดิบหายไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของซาอุฯ และคิดเป็นกำลังการผลิตในสัดส่วน 5% ของโลก (ปัจจุบันซาอุฯ มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดอยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน)

สำหรับประเทศไทยเหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายประเทศในตะวันออกกลาง ไม่ได้นำเข้าผูกขาดเฉพาะซาอุดีอาระเบียประเทศเดียว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลาง 1-2 ปี และมาตรการระยะยาว เช่น การลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกร การจัดโซนนิ่งพืชผลการเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว

2.สนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเทรนด์ใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรมกีฬาและสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ