คว่ำ กฟผ.นำเข้าก๊าซ LNG เปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ ?

ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน “คนใหม่” จะ “ล้ม” การประมูลนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือก๊าซ LNG จำนวน 1.5 ล้านตัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) หลังจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เข้าร่วมประมูลตั้งแต่เริ่มต้นในทำนองที่ว่า “ถึงจะชนะการประมูลก็ไม่มั่นใจว่าจะได้เป็นผู้จัดหาก๊าซ LNG ให้กับ กฟผ.”

แม้การเปิดประมูลครั้งนี้จะนับเป็น “ก้าวแรก” และ “ก้าวสำคัญ” ที่จะพิสูจน์นโยบายส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศของ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน “คนเก่า” ด้วยการทลาย “ข้อจำกัด” เพิ่มส่วนแบ่งตลาดของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่มีการนำเข้า LNG ตั้งแต่ต้นน้ำจนกระทั่งถึงปลายน้ำในปัจจุบัน

เปิดเสรีนำเข้า LNG

การประมูลนำเข้าก๊าซ LNG จำนวน 1.5 ล้านตันของ กฟผ. เกิดขึ้นภายใต้กรอบหลักการบริหารจัดการด้านการนำเข้าก๊าซ LNG ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ด้วยการเพิ่มจำนวนผู้จัดหาและจำหน่ายก๊าซ หรือ shipper รวมไปถึงการเปิดให้บุคคลที่ 3 สามารถใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG (Third Party Access หรือ TPA)

โดย 1 ในปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซอย่างเสรีก็คือ การจัดให้มีผู้จัดหา-จำหน่ายก๊าซ LNG หรือ shipper หลายราย ด้วยการเปิดโอกาสให้มี shipper รายใหม่ นอกเหนือจาก บริษัท ปตท.ที่เป็นทั้งผู้จัดหา-ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริหารระบบท่อก๊าซ-ท่าเรือ-คลังก๊าซ LNG อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงมีมติ 3/2560 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ให้ กฟผ.ทำหน้าที่เป็น shipper รายใหม่ทำการจัดหาก๊าซ LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตัน/ปี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561

แต่มีเงื่อนไขสำคัญที่ระบุไว้ในมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ 16/2561 วันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ว่า 1) ราคาก๊าซ LNG ของ กฟผ.จัดหาต้อง “ไม่สูงกว่า” ราคาก๊าซ LNG ต่ำที่สุดตามสัญญาจัดหาก๊าซ LNG ระยะยาวของ บริษัท ปตท.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน กับ 2) การจัดหาก๊าซ LNG ให้กับโรงไฟฟ้าให้แยกเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้จัดหารายเดิมคือ บริษัท ปตท.ใช้ราคา pool gas กับ กฟผ.ในฐานะ shipper รายใหม่ให้ใช้ราคา LNG ของ กฟผ.

กฟผ. Shipper หน้าใหม่

กฟผ.ได้เปิดดำเนินการประมูลในฐานะ shipper เพื่อหาผู้จัดหาก๊าซ LNG ที่เสนอราคาต่ำที่สุด ปรากฏมีผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นเพื่อเสนอแข่งขันราคา 12 ราย จากผู้แสดงความสนใจทั้งหมด 43 ราย โดย 1 ในสาเหตุสำคัญที่มีผู้เสนอราคาแข่งขันแค่ 12 รายก็คือ ไม่มีความมั่นใจในข้อกังวลที่ว่าการประมูลจะไม่ถูกล้มลงในที่สุด

อย่างไรก็ตาม กฟผ.ก็ได้ดำเนินการเปิดประมูลจนได้ตัวผู้จัดหาก๊าซ LNG ที่เสนอราคาต่ำที่สุดนั่นก็คือ บริษัท Petronas LNG Limited (สัญญาจัดหา LNG Term Contract 8 ปี ปีแรกส่งมอบ 280,000 ตัน ในเดือนกันยายน 2562) โดยสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ให้ข้อมูลว่า Petronas เสนอราคา 7.5 เหรียญ/MMBTU ขณะที่ PTT Public Company เครือ ปตท.เสนอราคา 7.7 เหรียญ/MMBTU และ กฟผ.พร้อมที่จะลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG กับ Petronas ผู้ชนะการประมูล ซึ่งเป็นราคาขายก๊าซที่ “ถูกกว่า” ราคาต่ำสุดของสัญญาจัดหาก๊าซระยะยาวทุกสัญญาของประเทศ โดย กฟผ.อ้างว่า เมื่อนำมาคำนวณแล้วจะประหยัดต้นทุนค่าไฟฟ้าเปรียบเทียบกับราคาก๊าซที่ซื้อในระบบการค้าก๊าซของ ปตท.ถึง 30,000 ล้านบาท

Take or Pay ด่านแรก

พร้อม ๆ กับการที่ได้ตัวผู้ชนะการประมูลขายก๊าซ LNG ให้กับ กฟผ. อยู่ ๆ ก็มีการหยิบยกสัญญาไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ Take or Pay ขึ้นมาในทำนองที่ว่า จะเกิดปัญหาหาก กฟผ.ทำสัญญากับ Petronas ขึ้นมา โดยในประเด็นนี้ กฟผ.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงบริษัท ปตท.ในฐานะผู้จัดหาก๊าซ LNG ให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ในปัจจุบันด้วยการเตรียมแผนบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เกิด Take or Pay โดยสัญญาซื้อขาย LNG จะมีความยืดหยุ่น สามารถปรับลดปริมาณการนำเข้าด้วยการกำหนดปริมาณไว้ระหว่าง 0.8-1.5 ล้านตัน/ปี และ กฟผ.ได้ทำการเจรจากับ Petronas ให้ดำเนินการขายก๊าซ LNG ส่วนที่ กฟผ.ยังไม่ได้ใช้ให้กับผู้ซื้อรายอื่น ๆ แทน กฟผ.ได้ด้วย

เงื่อนไขนำเข้างอก

แม้ กฟผ.จะสามารถ “เคลียร์” ปัญหา Take or Pay ออกไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะต้านทานกระแสการ “ล้ม” ประมูลนำเข้าก๊าซ LNG ของกระทรวงพลังงานในยุคของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ได้ โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติให้ “ยกเลิก” การประมูลนำเข้าก๊าซ LNG ของ กฟผ.โดยให้เหตุผล ซึ่งจะกลายเป็น “เงื่อนไขใหม่” ในการฟื้นการนำเข้า LNG ด้วยการประมูลในอนาคต ประกอบไปด้วย

1) แนวโน้มราคา LNG จะมีราคาลดลง การจัดหา LNG ในประเทศไม่ได้ลดลง แต่ปริมาณความต้องการใช้ LNG ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าก๊าซ LNG อีก 1.5 ล้านตัน

2) การนำเข้า LNG ของ กฟผ.จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ซึ่งมีการอ้างผลการคำนวณค่ากระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กพพ.) ที่ว่า แม้ กฟผ.จะจัดหา LNG ได้ในราคาที่ต่ำกว่าทุกสัญญาของ ปตท. แต่จะส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 2 สตางค์/หน่วยอยู่ดี

3) การนำเข้าต้องไม่ก่อให้เกิดภาระ Take or Pay 4) การทบทวนการแบ่งราคา LNG เป็น 2 pool

5) ข้อจำกัดของ กม.ในกรณีที่ กฟผ.จะนำก๊าซ LNG ไปจำหน่ายในตลาดอื่น ๆ

(นอกเหนือไปจากการนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.) แต่ กบง.ยอมให้ กฟผ.จัดซื้อ LNG แบบ spot ปริมาณไม่เกิน 2 ลำเรือ (180,000 ตัน) เพื่อเป็นการ “ทดลอง” ในระบบการแข่งขันได้ โดยอ้างว่า ราคา spot ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4 เหรียญ/MMBTU

โดยมติ กบง.ดังกล่าวได้สร้างความ “งุนงง” ให้กับผู้บริหาร กฟผ.ถึงการล้มกระดานเอาดื้อ ๆ พร้อมกับเงื่อนไขใหม่ ๆ ที่อาจจะเรียกได้ว่า “งอก” ออกมาจากมติ กพช. (31 ก.ค. 2560) กับมติ กบง. (25 ก.ค. 2561)

สหภาพทวงถามเปิดเสรี

ส่งผลให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องออกมาเคลื่อนไหวแทนผู้บริหาร กฟผ.ชุดปัจจุบัน พร้อมกับทวงถามนโยบายการเปิดเสรีการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้ได้อย่างไร ในเมื่อ กฟผ.ถูก “เตะตัดขา” ด้วยการสร้างเงื่อนไขใหม่ ๆ ขึ้นมา

ในขณะที่ ปตท.ยังคงเป็นผู้เล่นรายใหญ่เพียงรายเดียวที่เป็นทั้งผู้จัดหา-ผู้แปรสภาพก๊าซธรรมชาติ-ผู้จัดจำหน่าย-

ผู้บริหารระบบท่อ-ท่าเรือ-คลังเก็บ LNG ตามแผนลงทุนด้านก๊าซธรรมชาติ 5 ปี (2562-2566) ที่จะมีการลงทุนโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่าย LNG ที่บ้านหนองแฟบ มาบตาพุด ของบริษัท PTTLNG อีก 38,500 ล้านบาท เพื่อรองรับการนำเข้า LNG จากการจัดหาของ ปตท.อีก 7.5 ล้านตัน/ปี จากปัจจุบันที่รองรับการนำเข้าได้ถึง 11.5 ล้านตันต่อปี


จนกลายมาเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการล้มประมูลข้างต้นจากข้อสงสัยที่ว่า จะต้องแบ่งการนำเข้า LNG ให้ กฟผ. 1.5 ล้านตันทำไม ?