ขยะ 7 สี สู่โรงไฟฟ้า Zabalgarbi พลังงานสะอาด ที่ประเทศสเปน 

“นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เพี่อชีวิตที่ดีกว่า” คือวิสัยทัศน์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกทั้งยังมีเจตจำนงในการบริหารเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศ อย่างมีความรับผิดชอบ หากการปฏิบัติงานของ กฟผ. ส่งผลกระทบหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม 

ส่วนหนึ่งของการศึกษาดูงานในต่างประเทศของนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่ากฟผ. และคณะผู้บริหาร รวมทั้งสื่อมวลชนในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จึงมีปักหมุดที่ โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ที่มาจากการจัดการขยะของเมือง บิลเบา จังหวัด biscay แคว้นบาสก์

เป้าหมายคือ “บริษัท ซาบาการ์บิ Zabalgarbi”  ผู้มีพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า  “Zabalgarbi Waste-to-Energy” ตั้งอยู่ที่เมือง Biscay ที่มีประชากร 1,149,628 คน ทิ้งขยะผ่านถังขยะทั่วเมือง 7 สี คือ 1. สีน้ำตาล เป็นขยะอินทรีย์ 2.ถังสีเหลือง ทิ้งขยะพลาสติก 3.ถังขยะสีน้ำเงิน สำหรับกระดาษ 4.ถังเขียว ทิ้งขยะประเภทขวดแก้ว 5.ถังสีขาว เป็นขยะกลุ่มเสื้อผ้า และขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6.ถังสีส้ม เป็นน้ำมันเสียจากครัวเรือน และถังที่ 7.เรียกว่า Mass waste เป็นถังสำหรับทิ้งขยะที่ไม่ได้ระบุไว้ใน 6 สีดังกล่าว

เมือง Biscay แห่งนี้ในช่วงปี 2533 ประสบปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน คือ ขาดพื้นที่ในการกำจัดหรือถมขยะ และขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า การแก้ปัญหาได้รับความร่วมมือจากทั้งจากบริษัทเอกชน ทุกภาคส่วนของเมือง มีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณขยะ นำพลังงานจากขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด

ก่อนหน้านั้น 10 ปี ขยะจากบ้านเรือนในเมืองทั้งหมดส่งตรงเข้าสู่โรงงานขยะ  โดยไม่มีการคัดแยก และกำจัดด้วยการถม แต่ในช่วงปี 2533-2543 เริ่มมีระบบรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ

ปัจจุบัน มีการแยกขยะแต่ละประเภทและขั้นตอนการกำจัดขยะที่เป็นระบบผ่านถัง 7 สีดังกล่าว มาแล้ว 20 ปี

ด้วยความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม ต้องการนำพลังงานสะอาดมาใช้หมุนเวียนมากขึ้น ประกอบกับต้องการเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้ความร่วมมือจากภาครัฐ การไฟฟ้าของแคว้นบาสก์ และประชาชนด้วย

และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป หรือ EU ที่ตั้งเป้าหมายการรีไซเคิลขยะให้ได้ร้อยละ 50 ในปี 2563 แคว้นบาสก์ จึงได้มีการดำเนินงานร่วมกับชุมชน โดยเฉพาะการให้การศึกษา ให้ความรู้ในด้านการแยกขยะ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ไม่แยกขยะ

โรงงานไฟฟ้าจากขยะแห่งนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป การบริหารจัดการขยะต้องทำตามกฎของทั้งสเปนและยุโรปด้วย

การบริหารจัดการขยะของเมืองสอดคล้องกับหลักการ Circular Economy ของ EU ที่ระบุว่า  “หากไม่สามารถรีไซเคิลขยะได้ ต้องนำพลังงานจากขยะมาผลิตไฟฟ้า เพื่อส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ”

ด้วยสภาพของเมืองบิลเบา ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศสเปน เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด ที่เป็นหุบเขา จึงไม่มีที่ดินสำหรับกำจัดขยะ โรงไฟฟ้า Zabalgarbi Waste-to-Enegy จึงเกิดขึ้น โดย “บริษัท ซาบาการ์บิ Zabalgarbi”  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากภาครัฐ ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 35 และภาคเอกชนถือหุ้นอีกร้อยละ 65

โรงไฟฟ้า Zabalgarbi Waste-to-Enegy มีกำลังผลิต 99.5 เมกะวัตต์ (กังหันก๊าซ 43 เมกะวัตต์ และกังหันไอน้ำ 56.5 เมกะวัตต์) มีประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า 42% สามารถกำจัดขยะได้ 30 ตันต่อชั่วโมง การเผาไหม้ขยะใช้อุณหภูมิ 850 องศาเซลเซียส เดินเครื่อง 8,000 ชั่วโมงต่อปี

ขยะที่นำมาผลิตไฟฟ้ามาจากชุมชนในเมืองบิลเบา และจากโรงงานรีไซเคิล ที่ไม่สามารถรีไซเคิลแล้ว โดยขยะที่รับมาพร้อมนำไปใช้เผาผลิตไฟฟ้าได้เลย มีพื้นที่สำหรับเก็บขยะที่ส่งเข้ามาได้นานถึง 15 วัน

ค่าไฟฟ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องจากรัฐถือว่าเป็นการลงทุนของรัฐด้วย โดยได้รับเงินอุดหนุน  13 ล้านยูโรต่อปี มีเงื่อนไขการได้รับการสนับสนุนจากรัฐ คือ ต้องแสดงให้เห็นว่าพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานทดแทน โดยตัวแทนจากรัฐบาลจะมาตรวจสอบการดำเนินงานทุกปี

ผลประกอบการปีล่าสุด (2561) บริษัทมีผลกำไรก่อนหักภาษี 12 ล้านยูโร ซึ่งมีแผนจะนำไปพัฒนาโครงการและเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดต่อไป

ด้านเทคนิค โรงไฟฟ้า Zabalgarbi Waste-to-Energy เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยใช้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาทางท่อจาก Bilbao Port มาที่โรงไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงสำหรับกังหันก๊าซผลิตไฟฟ้า และใช้ไอร้อนที่ปล่อยออกจากกังหันก๊าซร่วมกับความร้อนจากการเผาขยะมาให้ความร้อนเพื่อผลิตไอน้ำไปปั่นกังหันไอน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยก๊าซก๊าซธรรมชาติจะใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงของ Gas Turbine เป็นหลัก

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากขยะ 100% และใช้เชื้อเพลิงก๊าซขึ้นลงตามความต้องการ เนื่องจากมีข้อผูกพันกับรัฐบาลในการลดขยะเป็นหลัก

การจัดการโละหะหนักในของเสียจะถูกกำจัดโดยกระบวนการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้รั่วไหลออกสู่สภาพแวดล้อม

อีกทั้งมีสถานีตรวจวัดอากาศ 3 แห่ง มีการตรวจวัดการปนเปื้อนในดินและพืช ในน้ำ และมีสถานีตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยา

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่ากฟผ. กล่าวภายหลังการศึกษาดูงาน ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ว่า ผู้บริหารโรงไฟฟ้าแห่งนี้ บอกว่าเมื่อก่อนเมืองมีสภาพแวดล้อมไม่ดี แต่เมื่อมีโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้น ในตัวเมืองจะเห็นสภาพอากาศที่ดี โรงไฟฟ้านี้ มีแนวทางที่สอดรับกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการสนับสนุนให้ชุมชนผลิตพลังงานได้เอง จากแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพของชุมชน แต่ที่เมืองไทยเรายังไม่ได้ทำความเข้าใจเรื่องการแยกขยะอย่างเพียงพอ เรารณรงค์มาแล้วกว่า 10 ปี แต่การแยกขยะยังไม่ดีพอ ขยะมีปริมาณมาก แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความคุ้มทุนในการเข้าสู่ระบบโรงไฟฟ้า”

ขณะนี้กฟผ. กำลังศึกษาตามนโยบายที่ว่า 1 ชุมชน 1 โรงไฟฟ้า พิจารณาว่าเมื่อ กฟผ. เข้าไปดำเนินการ ควรจะมีโมเดลเป็นแบบไหน เช่น กฟผ. เข้าไปแล้วชุมชนอยู่ได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น กฟผ. มองเรื่องธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นธุรกิจรอง เรื่องชุมชนอยู่ได้ มีชีวิตที่ดีขึ้นต้องมาก่อน มีความยั่งยืนทางอาชีพ” ผู้ว่ากฟผ.กล่าว