“สนธิรัตน์” สั่งซ้อมแผนฉุกเฉิน เผยสถานการณ์ซาอุดิอาระเบียเริ่มคลี่คลาย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์กรณีบริษัท น้ำมัน Aramco ของประเทศซาอุดิอาระเบีย ถูกโจมตีทำให้กระทรวงพลังงานตระหนักถึงความสำคัญของแผนรับมือสถานการณ์เพราะพลังงานถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยภารกิจของกระทรวงพลังงานคือการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของพลังงานทุกประเภท และจัดสรรให้ทุกภาคส่วนมีใช้อย่างเพียงพอต่อความต้องการเมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่สงบตามจุดต่างๆ ของโลกที่จะส่งผลต่อแหล่งผลิตหรือส่งออกเชื้อเพลิงด้านพลังงาน

โดยล่าสุด สถานการณ์ซาอุดิอาระเบียเริ่มคลี่คลายลงและสามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้ถึงร้อยละ 50 ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานเป็นประจำทุกปี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ฝึกปฏิบัติวิธีการสั่งการและการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการด้านพลังงานเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจต่อทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบ

โดยล่าสุด กระทรวงพลังงานได้จำลองสถานการณ์ “การปิดช่องแคบฮอร์มุซ” อันเกิดจากเหตุความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัฐบาลเตหะรานของอิหร่าน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของไทยหายไปถึง 62% ต่อวัน และทำให้มีปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ จนต้องมีการประกาศใช้มาตรการปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบริหารจัดการแบ่งสรรปันส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับภาคส่วนที่มีความสำคัญและเพื่อความมั่นคงของประเทศ

นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวได้ถูกจำลองเพิ่มเติมให้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือในการบริหารจัดการสถานการณ์ร่วมกันระหว่างกระทรวง กรม และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น ในการจัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการซ้อมแผนฯ ในครั้งนี้ กระทรวงพลังงานจึงได้มีการเชิญหน่วยงานจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในการซักซ้อม จำนวนกว่า 33 หน่วยงาน เพื่อระดมความคิด วางแผนแนวทางในการบริหารการจัดสรรปันส่วนน้ำมันให้แก่ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะเกิดขึ้น

รวมถึงทดสอบกระบวนการการประสานงานระหว่างหน่วยงาน โดยแนวทางการตัดสินใจจากการซ้อมแผนฯ จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศต่อไป

ในส่วนของภาคประชาชนนั้น สามารถมีส่วนร่วมช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงให้เกิดความประหยัด ให้ความสนใจต่อข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ รวมทั้งให้ความร่วมมือต่อมาตรการในช่วงเวลาจำเป็นดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดเหตุสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานได้อีกทางหนึ่งด้วย