นายกฯ พบผู้บริหารภาคเอกชน-สื่อชั้นนำของญี่ปุ่นกว่า 600 ราย พร้อมเชิญชวนลงทุนใน EEC

วันที่ 11 กันยายน เวลา 15.30 น. นาย Hiroshige Seko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) นำคณะผู้บริหารภาคเอกชนและสื่อมวลชนชั้นนำของญี่ปุ่น จำนวน 600 คน เข้าพบปะกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยพลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติที่ได้มาพบกับผู้บริหารภาคเอกชนและสื่อมวลชนชั้นนำของญี่ปุ่นในวันนี้ ไทยญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีและยาวนานในทุกระดับกว่า 130 ปี นับว่าญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับไทยมากที่สุด พร้อมแสดงความชื่นชมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันจัดงานในครั้งนี้

นายกรัฐมนตรีขอให้นักธุรกิจญี่ปุ่นมั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะทำทุกอย่างเพื่อให้ไทยและญี่ปุ่นมีความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ที่เท่าเทียม ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้นๆ ของไทยมาอย่างต่อเนื่องจนถึงในปัจจุบัน ในด้านการลงทุน นักลงทุนญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยบริษัทญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมดังกล่าว กลายเป็นเสาหลักที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกไทยในปัจจุบัน

รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในระยะยาวหรือแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระยะ 20 ปี เพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ ระบบดิจิทัล ดาวเทียม อวกาศ ส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง พัฒนาคุณภาพการศึกษา พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ พัฒนาชุมชนและเมืองใหม่ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

รัฐบาลยังได้แก้ไขกฎหมายการส่งเสริมการลงทุน และออกมาตรการเพื่อเร่งรัดการลงทุนเพิ่มเติม โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนจำนวนมาก เพื่อขจัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ปราศจากคอรัปชั่น มีความโปร่งใส สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่นักลงทุนไทยและต่างประเทศ

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใน EEC เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนรองรับด้วยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน

พร้อมทั้งเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง รวมถึงแผนงานการลงทุนการยกระดับและพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีจุดเด่นคือการเป็นเมืองนวัตกรรม (Innovation City) ที่เป็นต้นแบบของการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในลักษณะองค์รวม มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อก่อประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ EEC มีความก้าวหน้าตามลำดับและขอให้มั่นใจว่าจะมีการขับเคลื่อน EEC ต่อไปในระยะยาว

รัฐบาลมุ่งผลักดันประเทศไทยเข้าสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้ก้าวเข้าสู่ยุคที่ให้ความสำคัญกับการผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1 กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2 กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์ 3 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4 กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง

นอกจากนี้ ในเรื่อง SMEs นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพในการพัฒนา SMEs ให้เข้มแข็ง พร้อมขอให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs และธุรกิจท้องถิ่นในไทยให้มากขึ้น ซึ่ง BOI ได้พยายามชักจูงการลงทุนและเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs ญี่ปุ่นและไทย โดยการร่วมลงทุน การซื้อขายวัตถุดิบและชิ้นส่วน การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทั้งในสาขาอุตสาหกรรมดั้งเดิม และในสาขานวัตกรรมใหม่ๆ

ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณนักธุรกิจจากญี่ปุ่นที่เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยและเชื่อว่าคณะนักลงทุนจะเห็นโอกาสและประโยชน์ และตัดสินใจขยายการลงทุนในไทยมากขึ้น