อลหม่าน แก้อหิวาต์หมู รัฐปล่อยเกาะ-บีบเอกชนลงขันสู้

การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (African Swine Fever หรือ ASF) ที่เริ่มจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนสิงหาคม 2561 ลุกลามเข้ามายังเวียดนาม-มองโกเลีย-ฮ่องกง-กัมพูชา-สปป.ลาว เมียนมา และพร้อมที่จะแพร่เชื้อเข้าสู่ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวชายแดน 3 ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจากการเดินทางท่องเที่ยว การค้าขายหมูและผลิตภัณฑ์ การขนส่งสินค้า ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเผชิญทั้งสิ้น

ล่าสุดของสถานการณ์โรค ASF ที่แพร่ระบาดอยู่ในเมียนมาติดต่อชายแดนภาคเหนือไล่มาตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่-เชียงราย ได้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงล่าสุดที่โรค ASF มี “โอกาส” ที่จะแพร่เข้าสู่ประเทศไทยหลังจากมีรายงานการทิ้งซากหมูตายด้วยโรค ASF ลงแม่น้ำรวก ส่งผลให้กรมปศุสัตว์ต้องยกระดับการควบคุมและป้องกันโรค ASF ในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ด้วยมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น

อหิวาต์หมูวาระแห่งชาติ

แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อคน แต่คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ด้วยการให้ความเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรของประเทศไทยเป็น “วาระแห่งชาติ” ตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่กลับ “อนุมัติงบประมาณ” เพียงน้อยนิดแค่ 53,604,900 ล้านบาท (รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน) เพื่อใช้ในการดำเนินการเฝ้าระวัง-ป้องกันและควบคุมโรคเร่งด่วนด้วยการแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ 8 มาตรการ ?คือ ระยะก่อนการเกิดโรค, ระยะที่พบการเกิดโรคระบาดและระยะหลังการเกิดโรคระบาด ASF แล้ว

ด้วยมาตรการ 8 มาตรการ คือ การบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการการป้องกันโรคเข้าประเทศเชิงบูรณาการ การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังโรค การพัฒนาและสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการ การพัฒนาการควบคุมโรค การเพิ่มศักยภาพการสื่อสารความเสี่ยง และการฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จากปัจจุบันที่กรมปศุสัตว์ยังคงยืนยันไม่พบโรคระบาด ASF ในประเทศ ส่งผลให้ไทยอยู่ในสถานการณ์ก่อนการเกิดโรค และมีการ “เฝ้าระวัง” ทางอาการในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขต 5 เชียงราย-เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-ลำปาง-ลำพูน-แพร่-น่าน

ระดมฆ่าหมูพื้นที่เสี่ยง

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกาศ “เขตเฝ้าระวังโรค ASF” ควบคุมการขนย้ายหมู-ซากหมูตามระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการขออนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เข้า-ออกผ่านหรือภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เขตโรคระบาดหรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด พ.ศ. 2559 ส่งผลให้ 8 อำเภอในจังหวัดเชียงราย (แม่สาย-เชียงแสน-เวียงแก่น-แม่ฟ้าหลวง-แม่จัน-เชียงของ-ดอยหลวง-เวียงเชียงรุ้ง) เป็น “พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ” ตามมาด้วยจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่และระบบการคมนาคมติดต่อกับจังหวัดเชียงรายต้องประกาศให้ทั้งจังหวัดเป็นเขตเฝ้าระวังโรคระบาด ASF ตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้จะประกาศเป็นเขตเฝ้าระวังโรค ASF หรือพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษไปแล้ว แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้อง “กำจัดหมู” ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดตามมาตรา 13 (4) พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงรายมีเป้าหมายที่จะกำจัดหมูทั้งจังหวัด 144,264 ตัว จากจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 6,926 ราย โดยการเร่งกำจัดหมูในครั้งนี้เป็นการดำเนินการร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ด้วยการออกมารับซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อยที่มีความเสี่ยงในรัศมีใกล้เคียงกับการระบาดของโรคแล้วนำไปเชือดเพื่อแปรรูปปรุงสุกหรือฝังทำลายโดยขึ้นกับผลการประเมินความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่

เงินหมดบีบเอกชนลงขันช่วย

ปัญหาที่เกิดขึ้นสะท้อนการทำงานของรัฐบาลขึ้นมาทันที เมื่อพบว่างบประมาณ 53,604,900 ล้านบาทตามที่ ครม.อนุมัติให้เป็น “วาระแห่งชาติ” นั้นไม่เพียงพอต่อการดำเนินการระยะก่อนเกิดโรคตามแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์หมู ASF เมื่อปัญหาของโรค “ใหญ่กว่าที่คิด” และส่งผลกระทบไปถึง “ผลประโยชน์” ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย-ฟาร์มขนาดกลาง-ผู้จำหน่ายหมูภายในประเทศ และบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านปศุสัตว์

เมื่อกรมปศุสัตว์ตัดสินใจที่จะทำลายหมูในพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ 8 อำเภอในจังหวัดเชียงรายด้วยการรับซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อยลอตแรกประมาณ 1,000 ตัว ปรากฏว่า “มีเงินไม่พอจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรรายย่อย” แม้จะได้รับการสนับสนุนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ (1 ล้านบาท) และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรท้องถิ่น (3.6 ล้านบาท) แล้วก็ตาม ส่งผลให้แผนการกำจัดหมูของกรมปศุสัตว์ “ชะงัก” และนำมาซึ่งการที่กรมปศุสัตว์ต้องเรียกบริษัทยักษ์ใหญ่-ฟาร์มเลี้ยงหมูรายใหญ่-รายกลางของประเทศจำนวน 51 ราย นำทีมโดย “CPF-เบทาโกร (จ่ายเงิน 5 ล้านกับ 2 ล้านบาทตามลำดับ)” เข้ามา “ลงขัน” นำส่งเงินเข้า “กองทุนลดความเสี่ยงป้องกัน ASF”

ทำให้กรมปศุสัตว์สามารถกำจัดหมูเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ตัว ในอัตราการจ่ายชดเชยแม่หมูตัวละ 10,000 บาท หมูขุนตัวละ 3,000-5,000 บาทได้ ซึ่งเป็นการจ่ายเงินชดเชย “เกินกว่า” เงินชดเชยตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ที่กำหนดจะจ่ายในราคาไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของราคาหมูที่ประเมินในท้องตลาดเท่านั้น

รายใหญ่รอด เกษตรกรวิกฤต

การเรียกบริษัท-ฟาร์มหมูเข้ามา “ลงเงิน” ไว้เป็นกองกลาง (คำนวณอัตราเงินลงขันตามจำนวนวัคซีนที่แต่ละบริษัทใช้) ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาทันทีจากเกษตรกรรายย่อยและฟาร์มหมูที่ถูกระดมเงินเข้ามาจ่ายเข้ากองทุนทำนองที่ว่า ทำไมรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอในการควบคุมและป้องกันโรคอหิวาต์หมู ASF ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นถึง “วาระแห่งชาติ” ครอบคลุมเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 191,544 ราย ?จากจำนวนหมูในประเทศไม่ต่ำกว่า 9,504,921 ตัว โดยมีการคำนวณเบื้องต้นหากเกิดโรคระบาด ASF ขึ้นภายในประเทศจะมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 63,177 ล้านบาท

ดังนั้น การไม่ลงเงินของรัฐบาลจึงสร้างความกระอักกระอ่วนให้กับสมาคมผู้เลี้ยงหมูท้องถิ่น “งอแง” ไม่ยอมใส่เงินลงขันประกอบกับไม่ได้รับคำชี้แจงโดยตรงจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ประสงค์จะใช้เงินในการจ่ายชดเชยและบริหารจัดการในระยะก่อนเกิดโรคระบาด จนเกิดเหตุการณ์ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในเขตเฝ้าระวัง “แอบ” ขนย้ายหมูไปขายนอกพื้นที่ ซึ่งเสี่ยงต่อการระบาดของโรคด้วยไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินชดเชยเพียงพอกับการจำกัดหมู

ส่วนฟาร์มรายใหญ่ก็ไม่อยากออกเงินลงขัน หากโรค ASF ระบาดในประเทศขึ้นจริงจะได้กันเงินส่วนนี้ไว้ใช้ป้องกันฟาร์มของตนเองจะดีกว่า จากความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นกับวิธีบริหารจัดการควบคุมโรคดังกล่าวได้ส่งผลกระทบไปถึงราคาหมูเป็นของเกษตรกรถูก “ทุบ” ลงมาทันทีเหลือแค่ กก.ละ 52-54 บาท จากราคาปกติ กก.ละ 62-63 บาท แต่เนื้อแดงหน้าเขียงราคากับยืนอยู่ประมาณ 120-130 บาท/กก. กลับกลายมาเป็นมีคนได้ประโยชน์จากสถานการณ์ปั่นป่วนที่เกิดขึ้น


ในขณะที่ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่อาจไม่ได้รับผลกระทบเท่ากับเกษตรกรรายย่อย เหตุมีการเลี้ยงแบบครบวงจรตั้งแต่ฟาร์มไปจนกระทั่งถึงโรงเชือดผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปพร้อมช่องทางการตลาดภายในภายนอกประเทศ เชื่อว่าจะสามารถประคองตัวจนวิกฤตอหิวาต์หมูผ่านพ้นไปในที่สุด