ร้านยา-เกษตรกรระส่ำหวั่นรัฐแบนพาราควอต

“บิ๊กตู่” ซื้อเวลาแบนนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชอันตราย “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ต่อไปอีก 60 วัน ตลาดผู้ค้าปุ๋ย-ยาต่างจังหวัดผวากลัวถูกแบน เลิกสต๊อกสินค้า ตรึงราคาจำหน่าย ด้านเครือข่ายชุมชนเกษตรกรราชบุรีจ่อร้องศาลปกครองฟ้องกระทรวงสาธารณสุข จับตายาฆ่าหญ้าเถื่อนระบาด เหตุถูกกว่ายาชนิดใหม่

การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งที่ 40-8/2562 เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ได้ผ่านพ้นไปโดยที่ยังไม่มีการประกาศ “แบน” สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่อย่างใด

ท่ามกลาง “แรงกดดัน” ของรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ขอให้มีการประกาศเลิกใช้สารเคมีอันตรายเหล่านี้ จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องมีบัญชาให้ 4 ภาคส่วน ได้แก่ รัฐ-ผู้นำเข้า-เกษตรกร-ผู้บริโภค ทำการหารือแสดงความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจ เนื่องจากเป็นปัญหาที่สังคมให้ความสนใจในเรื่องของสุขภาพ โดยให้ระยะเวลา 60 วัน

โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์จากเครือข่ายต่อต้านการใช้สารเคมีอันตรายทำนองว่า บัญชาของนายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุดก็เหมือนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวคือยังไม่ได้ประกาศห้าม หรือยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายเหล่านี้ แต่ยังปล่อยให้มีการนำเข้าและจำหน่ายให้กับเกษตรกรใช้ต่อไปตามปกติ

รมช.ยืนกรานแบนแน่สิ้นปีนี้

นางสาวมณัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่ได้รับรายงานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 40-8/2562 เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา แต่ในความรับผิดชอบและบทบาทนโยบายของตนยังคงยืนยันในจุดยืนเดิม คือ ประกาศให้มีการ “แบน” สารกำจัดศัตรูพืชภายในสิ้นปีนี้ ส่วนใบอนุญาตหรือการต่อใบอนุญาตผู้นำเข้าสารเคมีจำกัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ได้สั่งการกรมวิชาการเกษตรระงับใบอนุญาตแล้ว” น.ส.มณัญญากล่าว

7 เดือนนำเข้าคลอร์ไพริฟอสพุ่ง

ล่าสุด ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ตรวจสอบข้อมูลกรมศุลกากรถึงการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด และกลุ่มสารเคมีที่เกี่ยวข้อง พบว่าในระยะ 7 เดือนแรกของปีนี้ มีการนำเข้าพาราควอตและไกลโฟเซต “ลดลง” แต่คลอร์ไพริฟอสมีการนำเข้า “เพิ่มขึ้น” โดยภาพรวมการนำเข้าสารเคมี (พิกัด 3808) 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) 2562 มีปริมาณ 105,941 ตัน มูลค่า 14,440 ล้านบาท เทียบกับทั้งปี 2561 ที่มีการนำเข้า 193,245 ตัน มูลค่า 25,872 ล้านบาท แต่หากแยกรายชนิดพบว่า สารพาราควอตมีปริมาณนำเข้า 535 ตัน มูลค่า 42.9 ล้านบาท จากปี 2561 ทั้งปีที่นำเข้า 1,091 ตัน มูลค่า 111 ล้านบาท การนำเข้าสารพาราควอตไดคลอไรด์มีปริมาณ 7,730 ตัน มูลค่า 661 ล้านบาท จากทั้งปี 2561 มีการนำเข้า 19,631 ตัน มูลค่า 1,695 ล้านบาท, สารไกลโฟเซต ปริมาณนำเข้า 400 ตัน มูลค่า 17.8 ล้านบาท จากทั้งปี 2561 ที่นำเข้า 1,271 ตัน มูลค่า 74.6 ล้านบาท, สารไกลโฟเซตไอโซ โพรพิลแอมโมเนีย มีปริมาณ 21,924 ตัน มูลค่า 1,163 ล้านบาท จากปี 2561 ที่นำเข้า 50,781 ตัน มูลค่า 2,979 ล้านบาท ซึ่งดูเหมือนจะปรับลดลง ขณะที่สารคลอร์ไพริฟอส มีปริมาณนำเข้า 555 ตัน มูลค่า 90.6 ล้านบาท จากปี 2561 ปริมาณ 1,029 ตัน มูลค่า 189 ล้านบาท

ส่วนผู้นำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ซึ่งจัดอยู่ในหมวดสารเคมีอื่น ๆ ตามพิกัด 3808 9319 มีรายหลัก ๆ เช่น บจ.ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น, บจ.เรนโบว์ อโกรไซเอนเซส, บจ.อดามา (ประเทศไทย), บจ.ไทยเฮอบิไซต์ และ บจ.บีเอเอสเอฟ (ไทย)

เกษตรกรราชบุรีฟ้อง สธ.

ด้านนางสาวอัญชลี ลักษณ์อำนวยพร เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง จ.ราชบุรี กล่าวว่า กลางเดือนตุลาคมนี้ ทางเครือข่ายจะยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข ต่อศาลปกครอง กรณีที่คณะกรรมการขับเคลื่อน ปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 ที่มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต กับคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 โดยระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และยุติการนำเข้าเดือนธันวาคม 2561

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายเห็นว่า มติดังกล่าวมีการพิจารณา “โดยขาดข้อมูลที่แท้จริง” มีผลทำให้ราคาขายสารกำจัดศัตรูพืชปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น 50 บาท/ลิตร เนื่องจากผู้ขายกังวลว่าจะถูกห้ามนำเข้า ปริมาณการนำเข้าลดลงอย่างเห็นได้ชัดจาก 40,000 กก. เหลือเพียง 5,000 กก.เท่านั้น

สารใหม่ “กลูโฟซิเนต”

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจร้านจำหน่ายสารเคมีจำกัดศัตรูพืชทางการเกษตรในภูมิภาค โดย นายนิมิตร สุวัฒน์ศรีสกุล เจ้าของและผู้จัดการ บริษัท เทพนิมิตการเกษตร จ.ตราด กล่าวว่า ทางร้านไม่มีการปรับราคาจำหน่ายสารเคมีทั้ง 3 ชนิด สินค้าที่สต๊อกไว้ตั้งแต่ปลายปี 2561 ก็ยังมีจำหน่ายอย่างเพียงพอ เกษตรกรก็ยังซื้อไปใช้ตามปกติ

ส่วนสารเคมีที่จะมาทดแทน “คลอร์ไพริฟอส” ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลงนั้น “ไม่มีปัญหา” เพราะมีสารเคมีตัวใหม่ที่ทดแทนได้ในราคาใกล้เคียงกัน เช่น ไซเพอร์เมทริน, อะบาเมกติน แต่สารเคมี “กลูโฟซิเนต” ที่ผลิตขึ้นมาทดแทนพาราควอต-ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้า จะกลายเป็นปัญหากับเกษตรกรอย่างแน่นอน เพราะมีราคาที่สูงกว่าถึง 3 เท่า และอัตราการใช้สิ้นเปลืองมากกว่า 1 เท่า

“พาราควอตราคาลิตรละ 100-140 บาท ไกลโฟเซตลิตรละ 112-125 บาท แต่กลูโฟซิเนต ราคาลิตรละ 360-440 บาท” นายนิมิตรกล่าว

หวั่นยาเถื่อนลักลอบขาย

มีรายงานข่าวจากร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเข้ามาว่า ผู้จำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรเริ่มกังวลกับกระแสข่าวจะแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ส่งผลให้ในพื้นที่ไม่มีใครกล้ากักตุนสินค้าและยังไม่มีการปรับขึ้นราคาอย่างผิดปกติ (ราคาปรับขึ้นลง 5-10 บาท/ลิตร) นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตสารเคมีรายใหม่อย่าง ยาฆ่าหญ้าแบรนด์กรัมม็อกโซน (พาราควอต) ได้จัดโปรโมชั่น ลดราคาสินค้ากับร้านค้า และจับฉลากลดส่วนลดราคาให้กับเกษตรกรถึงวันสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อเป็นการระบายสินค้าด้วย

“หากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดถูกแบนจริง เกษตรกรอาจจะหันไปซื้อยาหลังร้าน หรือยากำจัดศัตรูพืชที่แอบผสมและแอบจำหน่ายกันเองโดยไม่มีฉลาก ตรงนี้น่ากลัวและอันตรายมากกว่า”

เกษตรกรเริ่มสต๊อกยา

ด้านบริษัทเคมีกิจเกษตร ผู้จำหน่ายปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และอุปกรณ์เกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางร้านยังไม่มีการปรับราคายาปราบศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิด ส่วนร้านเกษตรไพศาล จ.มหาสารคาม ก็ยังจำหน่ายตามราคาปกติ แต่แนวโน้มมีการใช้ยาฆ่าหญ้าในนาข้าวลดลง สอดคล้องกับร้านกระบี่สินเกษตร ยังจำหน่ายตามราคาปกติ มีการปรับราคาขึ้นลงตามภาวะตลาด ชาวสวนปาล์ม-ยางพารายังให้ความสนใจมาซื้อยาฆ่าหญ้าทั้ง 3 ชนิดเหมือนเดิม

ด้านนายณรงค์ ตุงคะสมิต เจ้าของร้านเอ็มพีเค การเกษตร จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ภาพรวมของการขายยาจำกัดศัตรูพืชตอนนี้ “ค่อนข้างเซาซบ เพราะเกษตรกรไม่มีกำลังซื้อ” แต่เริ่มมีเกษตรกรบางกลุ่มซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิดเพิ่มขึ้น เพื่อสต๊อกสินค้าไว้ใช้งานในอนาคต หากมีการยกเลิกการใช้ เหมือนกับร้านขายสารเคมีการเกษตรในจังหวัดชัยนาท ก็ยังจำหน่ายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในราคาเดิมอยู่