บอร์ด BOI ไฟเขียวแพ็กเกจไทยแลนด์พลัส

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวหลังการประชุมบอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุน Thailand Plus Package ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มสำหรับกิจการเป้าหมายที่อยู่นอกกรุงเทพฯ ได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5-8 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 5 ปี กรณียื่นขอรับการส่งเสริมในปี 2563 และลงทุนจริงไม่น้อยว่า 1,000 ล้านบาท ในปี 2564

และออกมาตรการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ 1.มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมที่ให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุน หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรไปรวมคำนวณในวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่กำหนดเงื่อนไขค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 2 กรณี 1. กรณีจัดฝึกอบรมหรือฝึกงานเพื่อพัฒนาทักษะให้นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในรูปแบบทวิภาคี สหกิจศึกษาจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 เท่าของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และ2.กรณีผู้ประกอบการจัดฝึกอบรมหรือส่งพนักงานไปอบรมหลักสูตรด้านเทคโนโลยีเป้าหมาย และได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) หรือสำนักงาน EEC สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่ EEC จะได้สิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายไปเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่า และต้องยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในปี 2564 และก่อนสิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของโครงการ

2.มาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรทักษะสูงโดยภาคเอกชน ผู้ประกอบการ (บริษัทแม่) ที่ดำเนินธุรกิจอื่นซึ่งไม่ใช่สถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรม หากลงทุนจัดตั้งสถานศึกษา หรือสถานฝึกฝนอาชีพ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาด้าน STEM ระดับสูง และได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงอว. จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี วงเงิน 100% ของเงินลงทุนที่ใช้ลงทุนตั้งสถาบัน ส่วนสถาบันฝึกฝนอาชีพ หรือสถาบันการศึกษาที่ตั้งขึ้น ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ต้องยื่นขอรับส่งเสริมในปี 2564 และผู้ยื่นคำขอต้องเป็นกิจการที่อยู่ในประเภทที่บีโอไอให้การส่งเสริมในปัจจุบัน

“ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งปี 2562 ยังตั้งไว้ที่ 750,000 ล้านบาท”

และได้อนุมัติ 4 โครงการ มูลค่า 28,270 ล้านบาท ได้แก่ กิจการผลิตโพลีคาร์บอเนต เรซิ่น ลงทุน 18,476 ล้านบาท ร่วมทุนระหว่างไทย ญี่ปุ่น ไต้หวัน, กิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ลงทุน 4,450 ล้านบาท ร่วมทุนระหว่างไทย-สิงคโปร์ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ผลิตโมโนโซเดียมกลูตาเมตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ 2,750 ล้านบาท ร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น กิจการผลิตชิ้นส่วนผงโลหะอัดขึ้นรูปเทคโนโลยีใหม่ลงทุน 2,594 ล้านบาท จากจีน