กฤษฎีกาตีกลับพ.ร.บ.อ้อย จี้ปรับนิยาม “น้ำอ้อย” ใหม่

กฤษฎีกาท้วงกระทรวงอุตสาหกรรม เหตุแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ปรับนิยามน้ำอ้อยสามารถทำเป็น “ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ” ได้ อาจขัดเจตนารมณ์ ด้าน “สอน.” เตรียมเข้าชี้แจงยืนประโยคคงเดิม ส่วนโรงงานน้ำตาลกังวลการแบ่งปันผลประโยชน์ 70 : 30 ส่วนชาวไร่อ้อยหนุนสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ

นายสมพล โนดไธสง รองเลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. …ว่า หลังเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และได้เข้าไปให้ความเห็นร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ล่าสุดทางกฤษฎีกาทักท้วง โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับการปรับถ้อยคำในบางมาตรา ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้แก้ไขในคำนิยามที่ว่าให้ “น้ำอ้อย” สามารถผลิตเป็น “ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ” ได้

ทางกฤษฎีกามีความเห็นว่าคำว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นั้น สามารถตีความได้กว้างและหลากหลายมาก ขณะเดียวกันทางโรงงานน้ำตาลยังได้มีความกังวล หากน้ำอ้อยสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์อื่นจะต้องมีการปรับสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์กันใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 70 : 30

“ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากน้ำตาล ก็อย่างเช่น ใช้ทำเป็นเอทานอล เม็ดพลาสติก ยา เครื่องสำอางอุตสาหกรรมชีวภาพต่าง ๆ แต่ทางกฤษฎีกามองว่า พ.ร.บ.ของเรามีชื่อว่าอ้อยและน้ำตาลทราย ดังนั้นแล้วถ้าเราจะไปให้น้ำอ้อยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นมันจะผิดวัตถุประสงค์ของชื่อ พ.ร.บ.เอง เราก็ต้องกลับมานั่งคุยกันใหม่โดยนางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) รับทราบแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างหาทางออกว่าจะตัดคำว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ออกหรือไม่ แต่เชื่อว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะคงยืนเจตนานี้เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้เพิ่มมูลค่าไปสู่อุตสาหกรรมอื่นได้ด้วย”

ด้าน นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เจตนาของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการแก้กฎหมายครั้งนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพได้ และเมื่อได้รับจดหมายอย่างเป็นทางการจากกฤษฎีกาแล้ว จะนำเรียนต่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาถึงเจตนาการแก้กฎหมายครั้งนี้ จากนั้น สอน.จะเข้าไปชี้แจงต่อกฤษฎีกาอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน สอน.ได้เตรียมแนวทางรองรับไว้เช่นกัน หากการตีความในมาตราดังกล่าวนี้ไม่ผ่าน ก็จะให้คำจำกัดความไปว่า น้ำอ้อย นอกจากจะผลิตเป็นน้ำตาลแล้ว ยังสามารถเพิ่มส่วนประกอบไปเป็นน้ำเชื่อม ในสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ได้ ซึ่งก็อาจต้องมีแนวทางอื่น ๆ รองรับไว้อีก

ทั้งนี้ สอน. คาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อย ฤดูกาล 2562/2563 จะมีเพียง 111.5 ล้านตัน ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนเมื่อเดือนกรกฎาคมว่าจะมี 119 ล้านตัน จากสภาพอากาศแปรปรวนมาก

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ชาวไร่อ้อยไม่ขัดข้องที่จะให้นำน้ำตาลไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้ เพราะจะทำให้เกิดมูลค่าใหม่ ขณะเดียวกันจะต้องมีการปรับแก้ระเบียบในหมวดของรายได้กันใหม่ เพราะมีรายได้ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ใหม่ และสัดส่วนรายได้ 70 : 30 จะอยู่ที่เท่าไร ซึ่งจะเป็นการตกลงเจรจากับทางโรงงานน้ำตาลที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นสมควร ซึ่งเดิมรายได้จะมาจากน้ำตาลและผลพลอยได้เท่านั้น


“หากร่างฯฉบับใหม่นี้ไม่ผ่าน ทุกอย่างที่ร่วมกันแก้ไขมาก็จะกลับไปสู่การใช้ พ.ร.บ.ที่ไม่ต่างจากตัวเก่า และมีบางส่วนที่ขัดกับ WTO กฎหมายนี้จึงต้องผลักดันให้เสร็จ เพราะมันจะยากในการทำธุรกิจของโรงงานน้ำตาลเช่นกัน เมื่อทำตลาดยากขึ้น โรงงานจะนำอ้อยทำแค่น้ำตาลไม่ได้แล้ว”