ปตท.สผ. รอด รื้อแท่นบงกช ชนะประมูล 20 ปี-ทำรายงาน DEA

AppleMark

ระหว่างการถกเถียงกันหลายกระแส หลายความคิดเห็นถึงการรื้อถอนแท่นบงกช-เอราวัณ ที่กำลังจะหมดสัมปทานในปี 2565-2566 ซึ่งกังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา แต่ไม่ว่าจะรื้อในตอนนี้หรือในอีก 10 หรือ 20 ปีก็ตาม แผนการรื้อจำเป็นต้องมีเตรียมไว้แน่นอน และภายในต้นปี 2563 นี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้ที่ได้รับสัมปทานในการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมแปลงดังกล่าว พร้อมที่จะเสนอ “แผนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมการรื้อถอน (DEA)” ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติรับทราบ

ส่งรายงานการประเมินต้นปี”63

นางสาวกาญจนา ลังกาพินธุ์ หัวหน้ากลุ่มความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมการรื้อถอน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามกฎกระทรวง ผู้รับสัมปทานจะต้องกำหนดแผนงาน ประมาณการ ค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ดังนั้นหลังเปิดเวทีรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้วที่ภาคใต้ และกำลังเปิดรับฟังความเห็นในส่วนของภาคกลางนั้น เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทางด้านของ ปตท.สผ. จะรายงานแผนประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมการรื้อถอน (DEA) แท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกช แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข 15, 16 และ 17 ต่อคณะกรรมการปิโตรเลียมต้นปี 2563 ซึ่งโครงการนี้เป็นของ ปตท.สผ. และบริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ เป็นผู้ที่ได้รับสัมปทานในการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมแปลงดังกล่าว ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณา 180 วัน จากนั้นจะใช้เวลาเตรียมการรื้อถอน 1-2 ปี

ขณะที่ส่วนของแหล่งเอราวัณ ซึ่งมีแท่นผลิตอยู่กว่า 300 แท่นนั้น จะดำเนินการเช่นเดียวกันกับแหล่งบงกช แต่เนื่องจากผู้ชนะประมูลใหม่นั้นเป็นรายใหม่ จึงต้องเข้าสู่กระบวนการใหม่ในการพิจารณาว่าสิ่งติดตั้งใดที่ต้องส่งคืนให้รัฐบาลบ้าง จากนั้นก็จะดำเนินการผลิตปิโตรเลียมตามสัญญาสัมปทานต่อจนกว่าจะสิ้นสุด และแน่นอนว่าจะต้องมีแผนการรื้อถอนไว้ด้วยเช่นกัน

โดยสิ่งติดตั้งที่จะรื้อถอนนั้นมีทั้งหมด 5 ประเภท คือ 1.กลุ่มแท่นการผลิต ที่เป็นศูนย์การผลิตบงกชเหนือ (แท่นผลิต แท่นที่พักอาศัย แท่นชุมทางท่อ แท่นเผาก๊าซ แท่นแยกก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ แท่นหลุมผลิต WP1) และส่วนของศูนย์การผลิตบงกชใต้ (แท่นผลิต แท่นที่พักอาศัย แท่นเผาก๊าซ แท่นหลุมผลิต WPS1) 2.แท่นหลุมผลิต 58 แท่น 3.เรือกักเก็บปิโตรเลียม FSO2 จำนวน 1 ลำ รวมถึงโครงการสร้างที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบยึดโยงเรือ ท่อยืนสายนำสัญญาณ ระบบทุ่นยึดโยงกลางน้ำของเรือกักเก็บปิโตรเลียม FSO2 และระบบยึดโยงเรือของเรือกักเก็บปิโตรเลียม FSO1 4.ท่อขนส่งใต้ทะเล 63 แนวท่อ 5.โครงสร้างเชื่อมต่อระบบท่อขนส่งใต้ทะเล และ WYE 7 ชิ้น

แผนการรื้อถอน

โดยการรื้อถอนจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีสิ่งติดตั้งที่สิ้นสุดการใช้งานแล้วเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 แต่ด้วย ปตท.สผ. ชนะการประมูลโครงการบงกชรอบล่าสุด จึงเป็นการต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 20 ปี ดังนั้นแล้วการรื้อถอนแท่นจึงยังไม่ใช้ในขณะนี้ แต่จะเกิดขึ้นในปี 2587 นับตั้งแต่สิ่งติดตั้งสิ้นสุดการใช้งานแล้วคือในปี 2567 และแน่นอนว่าแม้จะยังไม่ได้สรุปว่าจะต้องรื้อถอนกี่แท่น และวางหลักทรัพย์ค้ำประกันการรื้อถอนอย่างไร แต่ ปตท.สผ.จำเป็นต้องทำรายงาน DEA ตามกฎกระทรวงนั่นเอง

ซึ่งตามแผนการรื้อถอนนั้น จะเริ่มจากการออกแบบทางวิศวกรรม ตรวจสอบ ล้างทำความสะอาดสิ่งติดตั้ง เตรียมการรื้อถอน รื้อถอนที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบนของแท่นที่จะนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ที่พักเป็นแหล่งดำน้ำ และนำไปกำจัดบนฝั่ง ส่วนล่างคือขาแท่นสามารถนำไปกำจัดและทำปะการังเทียม จากนั้นต้องจัดการตะกอนพื้นทะเลบริเวณขาแท่น การจัดการวัสดุและของเสียจากการรื้อถอน สำรวจพื้นที่ดำเนินการภายหลังเสร็จสิ้นการรื้อถอน และติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายหลังการรื้อถอน

ทางเลือกที่ดีที่สุด

หากศึกษาจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จะมี 2 วิธี คือ การรื้อถอนแท่นส่วนบนเพื่อนำไปจัดการบนฝั่ง และส่วนล่างนำไปทำปะการังเทียม ซึ่งเป็นวิธีการที่ประเทศไทยมองว่าน่าจะมีความเป็นไปได้เช่นกัน ขณะที่การรื้อถอนจะต้องพิจารณาด้านเทคนิค ความเป็นไปได้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการนำไปทำปะการังเทียม ที่จะต้องผ่านความเห็นชอบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง ทหารเรือ กรมเจ้าท่า ต้องได้รับการอนุญาตจาก 4 หน่วยงาน จึงจะนำแท่นไปวางปะการังเทียมได้ ส่วนการกำจัดบนฝั่งจะมียาร์ด หรือผู้รับเหมาได้รับใบอนุญาตกำจัดเท่านั้นจึงจะดำเนินการได้ และจากประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนต่อหลุมผลิตจะอยู่ที่ 3-5 ล้านดอลลาร์

มาตรการผลกระทบสิ่งแวดล้อม


แน่นอนว่าในกระบวนการระหว่างการรื้อถอนนั้น ที่อาจเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมไม่มากก็น้อย ซึ่งหลายหน่วยงานกังวลทั้งคุณภาพน้ำทะเล ตะกอนพื้นทะเล และสัตว์หน้าดิน ดังนั้นมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ จึงกำหนดแนวทางดังนี้ ใช้อุปกรณ์การฉีดพ่นไล่ตะกอนที่เหมาะสมปลอดภัย เพื่อจำกัดขนาดและระยะเวลาของการฟุ้งกระจายของตะกอน, ศึกษาข้อมูลธรณีวิทยาระดับตื้นบริเวณขาแท่น เพื่อวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมายก่อนที่จะฉีดน้ำเพื่อไล่ตะกอนได้อย่างแม่นยำ, หลีกเลี่ยงการดำเนินงานฉีดพ่นไล่ตะกอนในฤดูมรสุม เนื่องจากความแรงของกระแสน้ำและลม, ตรวจสอบการผุกร่อน สารตกค้างของท่อขนส่งใต้ทะเลก่อนการรื้อถอน และกำจัดก่อนที่จะมีการฟุ้งกระจาย, กำหนดวิธีการจัดการสิ่งมีชีวิตบริเวณแท่น กับทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกรมประมงและเพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพประชาชน จะต้องเลือกสถานที่แยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุของเสียจากการรื้อถอน และจัดเก็บกลิ่นที่เกิดขึ้น, จำกัดระยะเวลาในการจัดการสิ่งมีชีวิตที่ติดอยู่ที่ขาแท่น รวมถึงอื่น ๆ