ไขข้อข้องใจกองทุนหมูASF รายใหญ่ควักประเดิม10ล.

แฟ้มภาพ

ส.ผู้เลี้ยงสุกรฯเผย มติบอร์ดสมาคมเดินหน้าตั้ง “กองทุนชดเชยและป้องกัน ASF” ระดมเงินทุกรายเท่ากัน เริ่มที่รายใหญ่ก่อนเพื่อความรวดเร็ว หวังสกัดการแพร่ระบาดก่อนสร้างความเสียหายรายย่อย เหตุประเมินผลกระทบยาว 3-5 ปี เร่งผนึกกำลังก่อนหมู 14 ประเทศจ่อทะลักเข้าไทย

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารสมาคม พิจารณาเห็นชอบให้จัดตั้งกองทุนชดเชยและป้องกัน ASF ขึ้น โดยมีหลักคิดคือเมื่อเกิดการระบาดของโรครอบประเทศไทย ทำให้หมูของชาวบ้านที่อยู่ชายแดนใกล้เขตการระบาดของเพื่อนบ้านจะมีความเสี่ยงมาก หากปล่อยให้หมูชาวบ้านติดเชื้อ ASF จะทำให้รายย่อยล่มสลาย และฟื้นกลับมาใหม่ยากมาก

ดังนั้น การเข้าไปซื้อหมูชาวบ้านที่ยังไม่เป็นโรคในเขตเสี่ยง เพื่อให้ชาวบ้านมีเงินสดเก็บไว้หรือใช้หนี้สินจะมีประโยชน์กว่า หากรอจนระบาดแล้วเชื้อจะอยู่ในพื้นที่อาจอยู่นานถึง 3-5 ปี ถ้าปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญปัญหาเช่นในจีนและเวียดนาม รายย่อยจะหมดไป การป้องกันชาวบ้านเท่ากับป้องกันประเทศด้วย

“ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ตระหนักถึงความสำคัญตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ในประเทศจีน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ถึงปัจจุบัน ที่ได้แพร่ระบาดล้อมประเทศไทย ทางสมาคมจึงได้ศึกษาถึงระบาดวิทยา ศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางการค้ากับการระบาดของโรค ศึกษาถึงการบริหารจัดการของภาครัฐในแต่ละประเทศ ศึกษาถึงความสำเร็จ และความล้มเหลวการป้องกันโรค จึงมองว่าความสำเร็จในการป้องกันโรคจะเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนอย่างจริงจัง หากต่างคนต่างคิด ท้ายที่สุดการระบาดของโรค ASF ลามไปทั่วประเทศ ก่อนหน้านี้ สมาคมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการสร้างด่านทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อ 5 ด่านหลัก ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่บริษัทใหญ่ แต่รายย่อยก็ได้รวมเงินกันสร้างด่านด้วย ในนามสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์เป็นผู้ดูแล และนำมาสู่การตั้งกองทุนในครั้งนี้”

สำหรับการเก็บเงินเข้ากองทุนจะต้องมองถึงระยะยาว ที่ประชุมจึงมีมติให้เก็บเงินจากเกษตรกรเข้ากองทุนโดยเท่าเทียมกัน แต่การจัดเก็บจะเริ่มในรายใหญ่ก่อน เพื่อความสะดวกในการรวบรวมโดยเร็ว และทันต่อสถานการณ์ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กองทุนส่วนกลางของสมาคม และส่วนที่เป็นของภูมิภาคจัดเก็บ

ส่วนการโอนถ่ายย้ายเงินเป็นไปตามคณะกรรมการกองทุนจะพิจารณาต่อไป การระดมเงินและการใช้เงินกองทุนจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยมีขั้นตอนและการดำเนินงานที่ชัดเจน ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ จากการร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนเป็นความเห็นชอบและการยอมรับแนวทางร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมอย่างยั่งยืน

“ขณะนี้มีทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่เลี้ยงหลักร้อยตัวติดต่อเข้ามา ถือเป็นจุดร่วมการทำงานเพื่อยกระดับการเลี้ยงปศุสัตว์ในหลายด้าน ทั้งด้านระบบ biosecurity การจัดเก็บเงินกองทุน ซึ่งในประเทศอเมริกาเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก มีเงินกองทุนถึง 4 แสนล้านบาท ส่วนของประเทศไทยเราเพิ่งเริ่มมีแค่หลัก 10 ล้าน อาจดูแปลกใหม่ แต่ถ้าเกิดโรค ASF ในประเทศไทย หมู USA จะถูกผลักดันเข้าตามมาเหมือนในหลายประเทศ ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่ามาก และขณะนี้มีอีก 14 ประเทศขอส่งหมูเข้าประเทศไทย การป้องกันมันยากหนักหนาสาหัส แต่เราสามารถป้องกันประเทศเราได้”