เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษฯ ประกาศรวมพลังเคลื่อนไหวหน้าทำเนียบ 19 ก.ย.

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ประกาศรวมพลังเคลื่อนไหวใหญ่ หน้าทำเนียบรัฐบาลและใน 76 จังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 19 กันยายนนี้….จับตาคำแถลงของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์วันนี้ (12 กันยายน) เวลา 11.00 น.

เมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) เวลา 13.00 น. เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ได้แถลงข่าว “รวมพลังสนับสนุนการแบนสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง” ที่เคยูโฮม ม.เกษตรศาสตร์

จากมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วยคณะกรรมการจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการดำเนินการเพื่อยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช “พาราควอต” และสารเคมีกำจัดแมลง “คลอร์ไพริฟอส” และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ต้นน้ำ ชุมชนและพื้นที่เปราะบาง เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก แต่ในอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ทะเบียนพาราควอตของบริษัทซินเจนทาจะหมดอายุลง ทำให้มีความเคลื่อนไหวของผู้เสียประโยชน์เพื่อที่จะต่ออายุทะเบียนและไม่ให้มีการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ ดังนั้นองค์กรที่ทำงานด้านเกษตร คุ้มครองสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจึงได้รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) สรุปสถานการณ์ หลังจากที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศมติดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา ทางกรมวิชาการเกษตรได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นมาเป็นลำดับ โดยข้อมูลส่วนใหญ่จากผู้เข้าร่วมเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นและการอ้างผลงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้ขาดความน่าเชื่อถือทางวิชาการ ทางเครือข่ายจึงขอสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้มีการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต โดยยุติการขึ้นทะเบียนในปี 2561 และยุติการใช้ภายในปี 2562 และยืนยันที่จะให้ทางกรมวิชาการเกษตรปฏิบัติตามมติโดยไม่มีการต่อทะเบียนที่กำลังจะหมดอายุลง และให้พิจารณายกเลิกทะเบียนที่ยังไม่หมดอายุให้เป็นไปตาม road map เพื่อเป็นการ phase out อย่างเร่งด่วน และเพื่อเป็นการยืนยันถึงความต้องการสนับสนุนมติเหล่านี้ ทางเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงจะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน 2560

นายเกษม บุญชนะ เลขานุการสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรสุขภาวะ จังหวัดชุมพร ขอประกาศเจตนารมณ์ของคนทำสวนยางที่ส่งผลต่อสภาวะด้านความเป็นอยู่

1) ขอสนับสนุนข้อเสนอกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่าย ขอให้สารเคมีที่อันตรายร้ายแรงต้องยกเลิก

2) ขอเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนทางเลือกให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

3) ขอเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรใช้อำนาจตามมาตรา 38 และ 40 เมื่อเห็นว่าสารเคมีนั้นอาจเป็นอันตรายต่อพืช สัตว์ และคน หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีผลให้สารเคมีนั้นไม่สามารถที่จะผลิต นำเข้า และส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง

4) ขอให้รัฐบาลมีมาตรการเด็ดขาดในการไม่ขึ้นทะเบียนหรือเพิกถอนสารเคมีที่อันตรายทั้งในปัจจุบันและอนาคต การแถลงข่าวนี้ขอยืนยันว่าถ้าหากรัฐบาลยังไม่มีมติที่เด่นชัด กระทรวงเกษตรยังไม่สามารถที่จะดำเนินการตามที่ประชาชนเสนอ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 (3) เราจะขยับขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลในเร็ววัน

นายธีระ วงศ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดจันทบุรี ในนามของสภาเกษตรกรแห่งชาติคงยืนยันเจตนารมณ์เดิมตามที่ได้รับมอบหมายมาดำเนินการกับเรื่องที่มีผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในขณะนี้เราจะเห็นว่าพี่น้องเกษตรกรเราล้มป่วยด้วยมะเร็ง เบาหวาน โรคตับ โรคไต สารพัดโรค ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากการสะสมของสารพิษ แล้วเราก็พยายามที่จะเรียกร้องในเรื่องของอาหารปลอดภัย ในเรื่องของประเทศไทยเป็นครัวของโลก แต่เรายังไม่เห็นความเด็ดขาดของการดำเนินงานของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายในการสนับสนุนงบประมาณ เราเร่งในเรื่องของการผลิตและรายได้มากๆ แต่เราไม่ได้มองในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของพี่น้องเกษตรกรเราเลย อันนี้เป็นความละเลยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มองแต่สิ่งที่จะได้มา แต่ผลที่จะเกิดขึ้นเราไม่ได้มองเลย ขออนุญาตเรียกร้องกระทรวงเกษตรต้องมองทั้งสองด้าน และในส่วนหนึ่งของเงินงบประมาณห้าหมื่นห้าพันล้าน ตัดครึ่งหนึ่งได้ไหมเอามาทำในเรื่องของสุขภาพ เราผลักดันในเรื่องของเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นแล้วประเทศไทยจะตกอยู่ในห้วงหายนะ จะเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสารพิษ และในปัจจุบันไม่ควรพัฒนาประเทศโดยใช้สารพิษนำหน้า ควรจะเป็นเมืองที่มีสุขภาวะดี สิ่งแวดล้อมดี และผู้คนมีความสุข ฉะนั้นวันที่ 19 จะมีการประชุมสัมมนาของสภาเกษตรกรแห่งชาติกลุ่มภาคกลางและภาคใต้ที่จังหวัดปทุมธานี ก็จะใช้เวทีนั้นร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของพี่น้องเครือข่ายให้ยกเลิกสารพิษทั้ง 3 ชนิด ในส่วนของจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัดที่สภาเกษตรกรแห่งชาติมีสำนักงานที่ตั้งก็จะได้มีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อไป

นางสาวคำพัน สุพรม ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก(ประเทศไทย) เราเป็นชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืนที่รักษาระบบนิเวศน์อยู่แล้ว จึงขอสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข และขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเอาจริงเอาจังในเรื่องของการยกเลิกสารเคมีอันตราย และเราจะกลับมาส่งเสียงอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายนที่จะถึงนี้

นายรุ่งอรุณ แจ่มจันทร์ สภาองค์กรชุมชน ขอให้การยืนยันในการสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ในการเสนอระดับชาติให้มีการยกเลิกสารเคมี ในตัวแรกก็คือ พาราควอต ไม่ให้มีการต่ออายุในการใช้สารนี้ และสารเคมีทุกตัวที่จะมาทำลายสุขภาพคนไทย อยากจะให้ประเทศไทยนี้ปลอดจากการใช้สารเคมี สภาองค์กรชุมชนขอให้การยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนในการเลิกใช้สารเคมีทั้งประเทศ โดยจะเสนอผ่านเวทีของสภาองค์กรชุมชนให้เสนอเป็นทั้งนโยบายและออกเป็นกฎหมายบังคับใช้

นายพชร แก้วกล้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภคภาคประชาชน ในมุมของผู้บริโภค การตกค้างของสารเคมี 3 ชนิดนี้ ในสิ่งแวดล้อมและในห่วงโซ่อาหาร อยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วง เพราะฉะนั้นเราจึงสนับสนุนข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้เราจะร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายในวันที่ 19 โดยการเข้าร่วมยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรี และทาง คอบช. จะทำจดหมายไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อที่จะขอให้พิจารณาพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และให้ดำเนินการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต และมีการหนังสืออีกฉบับหนึ่งส่งไปยังกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้ยุติการต่อทะเบียนและยกเลิกทะเบียนเดิมของคลอร์ไพริฟอสและพาราควอต

ทันตแพทย์หญิงวรางคณา อินทโลหิต ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภู ในนามของสมัชชาสุขภาพซึ่งจับในเรื่องของสารเคมีเกษตรที่มีผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่ปี 57 เพราะเราเห็นข้อมูลปี 56 ว่ามีคนป่วยด้วยโรคหนังเน่าในหนองบัวลำภูที่เก็บสถิติมาตั้งแต่ปี 56-59 ปีละร้อยกว่าคน และหนองบัวลำภูถูก Zoning ให้เป็นพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน เพราะฉะนั้นจากที่ปี 56ปลูกอ้อยจากแสนไร่ ปี 59 เพิ่มเป็นห้าแสนไร่ และจากการที่ขาดแรงงานในการกำจัดหญ้าก็เลยใช้สารเคมีเยอะ โดยอันดับหนึ่งก็เป็นพาราควอต ผู้ใหญ่บ้านต้องประกาศลูกบ้านห้ามลงน้ำ ลงน้ำแล้วจะพองเป็นโรคเยอะมาก เครือข่ายของพวกเราเองก็เจอในเรื่องของโรคหนังเน่าทั้งแขนและขา อันนี้เป็นอันดับหนึ่งของพิษจากสารเคมี ที่เรายังไม่สามารถตรวจการตกค้างในร่างกายได้ เห็นแต่พิษเฉียบพลัน แต่ในเรื่องของยาฆ่าแมลง หนองบัวลำภูตรวจเกษตรกรพบตกค้าง 50% แต่ผู้บริโภคที่เป็นส่วนราชการตกค้างอยู่ที่ 70-90% ไอคิวของเด็กประถมวัยก็เป็นอันดับสุดท้ายของเขต จึงมีการคุยกันในเครือข่ายสมัชชาสุขภาพว่าอยากส่งมอบแผ่นดินที่ปลอดภัยให้กับคนในอนาคตไม่อยากให้เป็นแผ่นดินอาบยาพิษ ก็เลยมีข้อเสนอให้ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีเกษตร โดยให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ขอสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข เราในฐานะเครือข่ายสมัชชาก็จะสื่อสารในเรื่องของพิษภัยของสารเคมีเหล่านี้ให้กับผู้บริโภคทราบ ในวันพรุ่งนี้หนองบัวลำภูก็จะสำเนาสมุดปกขาวให้กับผู้สื่อข่าวทุกคนในจังหวัดหนองบัวลำภูที่เราจะมาประชุมกัน

ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรและเครือข่ายต่างๆมากกว่า 40 องค์ได้ประกาศร่วมกันที่จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศในวันที่ 19 กันยายน 2560 นี้ โดยจะมีการรวมตัวกันเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และบริเวณศาลากลางของ 76 จังหวัดทั่วประเทศ และคาดว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ที่สุดของประชาชนในยุคคสช. หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ดำเนินการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงตามมติของกระทรวงสาธารณสุข และคณะทำงาน 4 กระทรวงหลัก