นายกสั่งยึดส.ป.ก.ที่ไม่ทำเกษตรตกเป็นของรัฐ-เล็งโละทิ้ง ม.44 ปลดล็อคให้ปิโตรเลี่ยม-กังหัน-เหมืองบนพื้นที่ส.ป.ก.เดิม

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการยึดที่ดินทั้งหมดที่เป็นที่ส.ป.ก.แต่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน วังน้ำเขียว พะเยา ภูเก็ต ชุมพร ฯลฯ รวมไปถึงจะรื้อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือม.44 ที่ปลดล็อคให้ 3 กิจการ คือ ปิโตรเลียม กิจการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม และกิจการสำรวจเหมืองแร่ให้ดำเนินการได้โดยเก็บค่าเช่า ค่าภาคหลวงใหม่

ทั้งนี้ กิจการที่รัฐบาลยุค คสช.มีการปลดล็อคให้ดำเนินการ รัฐบาลได้รับผลตอบแทนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของเอกชน ดังนั้นจะต้องหารือเพื่อให้ผลประโยชน์ที่รัฐบาล หรือเกษตรกรเจ้าของพื้นที่จะได้ผลประโยชน์จะได้รับมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าให้ที่ดิน ส.ป.ก.ส่วนการจะยึดคืนที่ ดินส.ป.ก.ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องขอความร่วมมือกับ รองนายกฝ่ายความมั่นคงเพื่อขอกำลังทหารเข้าพื้นที่

ส่วนการเพิ่มมูลค่าของที่ดิน โดยนำไปทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือทำกิจกรรมอื่นใด นอกเหนือจากการทำเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินของเกษตรกร เรื่องนี้ต้องแก้กฏหมาย ซึ่งได้สั่งการส.ป.ก.ทั่วประเทศเร่งสำรวจว่าในแต่ละพื้นที่ ที่ดินส.ป.ก.ในความเป็นจริง ดำเนินกิจการใด หากทำกิจการที่มีมูลค่าสูง เกษตรกรเจ้าของที่ดินก็จะมีรายได้สูง อาทิ ทำท่องเที่ยว ซึ่งรายได้ทำการเกษตรกรเจ้าของที่ดินที่ได้รับจัดสรรก็จะมีรายได้สูงกว่าทำเกษตร

“กรณีชาวบ้านเป็นนอมินี ยึดคืนหมด ผิดวัตถุประสงค์ยึดคืนทันที แต่ต้องหารือขอความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคง เมื่อยึดมาได้ก็จะนำจัดสรรให้กับเกษตรกร แต่การจัดสรรจะไม่จัดสรรแค่ที่ดิน จะให้อาชีพ จะให้น้ำ ไฟฟ้า เข้าไป มีความเจริญเข้าถึงสามารถประกอบอาชีพได้ โดยใช้กองทุนส.ป.ก.ที่ได้จากการใช้เช่าที่ดิน ขณะนี้มีเงินสะสมอยู่ประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท ดูแลและปฏิรูปที่ดินให้กับเกษตรกรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม”

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า นอกจากนี้ในวันที่ 3 ต.ค.นี้ ส.ป.ก.จะหารือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมาหาดไทย เพื่อนำแผนที่แนวเขตที่รัฐของรัฐแบบบูรณาการมาตราตราส่วน 1:4000 ( One map ) ที่รัฐบาลก่อนหน้าร่วมกันบูรณาการร่วมกันปรับปรุงระวางเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน และ ระหว่างเอกชนกับรัฐ รายละเอียดของกรอบการทำงาน กฏหมาย การนำมาใช้ได้วางแผนไว้ดีแล้ว เหลือเพียงเอามาทบทวน ปัดฝุ่นให้ทันสมัยขึ้นเท่านั้น ซึ่งเมื่อมีแผนที่ One map แล้วปัญหาการทับซ้อนของที่ดิน การถกเถียงกันว่า ใครควรรับผิดชอบในพื้นที่นั้นๆจะหมดไป