ดีเดย์1ต.ค.ประกันรายได้ปาล์ม ชาวสวนลุ้นราคาอ้างอิงต่ำกว่า4บ.มีเฮ

“จุรินทร์” เตรียม video conference ผู้ว่าฯ-พาณิชย์จังหวัด-เกษตรจังหวัดทั่วประเทศ เร่งชี้ก่อนเริ่มประกันรายได้น้ำมันปาล์ม ข้าว ขีดเส้นทุกปั๊มต้องมีไบโอดีเซล B10 แน่ 1 ม.ค. 63 พร้อมเดินหน้าประกันรายได้ยางพาราต่อ 4 ต.ค. 62 ชาวสวนยางรอลุ้นเคาะราคาประกันรายได้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 กันยายนนี้จะประชุมทางไกลผ่าน video conferenceร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงถึงทิศทางการดำเนินงานมาตรการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกนาปี 2562/2563 และปาล์มน้ำมันปี 2562/2563 เพื่อทำความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มโครงการในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เพื่อให้ทุกภาคส่วนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงติดตามผลผลิตที่จะเข้าร่วมโครงการและเกษตรกรที่จะเข้าร่วม

“ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมและตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ โดยจะต้องมีการตรวจสอบให้ตรงกับข้อเท็จจริง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการทุจริตในการเข้าร่วมโครงการหรือแจ้งเท็จในส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เป็นหน่วยงานโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร จะต้องมีความพร้อมหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเห็นชอบในการดำเนินโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมันและข้าวเปลือกเป็นสินค้ากลุ่มแรก”

ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการการประกันรายได้ปาล์มน้ำมันจะได้รับการจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกวันที่ 1 ต.ค. 2562 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนนำปาล์มน้ำมัน (เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18%) ไปขายก็จะต้องเปรียบเทียบกับราคาตลาดอ้างอิง หากต่ำกว่าเป้าหมายราคาประกันที่กำหนดไว้ กก.ละ 4 บาท รัฐบาลจะจ่ายเงินส่วนต่างคืนให้โดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กำหนดไม่เกินรายละ 25 ไร่ ส่วนโครงการการประกันรายได้ข้าวเปลือกเริ่มจ่ายงวดแรกวันที่ 15 ต.ค. 2562 ซึ่งจะใช้ราคาตลาดเฉลี่ยทุก 15 วัน

นายจุรินทร์กล่าวถึงผลการนำคณะลงพื้นที่จังหวัดพังงา เพื่อชี้แจงการดำเนินงานของโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกรในจังหวัดภาคใต้ 9 จังหวัดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันอยู่ที่ กก.ละ 2.55-3.20 บาท ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) กก.ละ 16-16.50 บาท ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันปี 2562 จะมีปริมาณ 16.8 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) 3.02 ล้านตัน ส่วนความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบต่อปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 ล้านตัน สำหรับใช้ในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ส่วนการใช้ในภาคพลังงานอยู่ที่ 1.2-1.3 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแนวทางผลักดันการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 แทน B7 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จะมีแนวทางผลักดันสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ จำเป็นจะต้องมี B10 เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้น้ำมัน ซึ่งปัจจุบันความต้องการน้ำมันปาล์มดิบสำหรับใช้ผลิต B10 อยู่ที่ 6.5 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนความต้องการใช้ผลิตน้ำมัน B7 คาดว่าจะอยู่ที่ 1 ล้านลิตรต่อวัน ต่อไปจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้น้ำมัน

“เมื่อมีการบังคับใช้ B10 แล้วจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ เพื่อใช้ผลิตน้ำมันต่อปีอยู่ที่ปริมาณ 2 ล้านตันโดยจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบต่อปีเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือดูดซับน้ำมันปาล์มในตลาดได้ปีละ 3 ล้านตัน อีกทั้งจะมีผลทำให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวดีขึ้นพร้อมกับลดปัญหาเรื่องของสต๊อกน้ำมันปาล์มล้นสต๊อกด้วย”

ส่วนมาตรการดูแลอื่น ๆ นั้น เช่น การผลักดันให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำน้ำมันปาล์มดิบไปเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตไฟฟ้าตามข้อตกลงที่มีอยู่เดิม การจัดการดูแลเรื่องของการลักลอบน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ ซึ่งต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น พร้อมทั้งการเร่งรัดการผลักดันการส่งออกโดยเฉพาะตลาดอินเดียและการติดตั้งมิเตอร์ในแท็งก์น้ำมันปาล์มดิบเพื่อติดตามสต๊อกน้ำมัน และสิ่งสุดท้ายคือการผลักดันนโยบายปาล์มยั่งยืน

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการประกันรายได้ยางพารา คาดว่าจะนำผลการหารือประกันรายได้ยางพาราเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางพาราธรรมชาติแห่งชาติ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2562 นี้ก่อนจะเร่งเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบคาดว่าจะสามารถจ่ายส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ยางพาราให้กับเกษตรกรได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ สำหรับยางพาราที่จะเข้าร่วมโครงการประกันรายได้มี 3 ประเภท คือ ยางแผ่นประกันรายได้กิโลกรัมละ 70 บาท น้ำยางพารา ประกันรายได้กิโลกรัมละ 57 บาท และยางก้นถ้วยประกันรายได้ในกิโลกรัมละ 23 บาท โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่เกิน 25 ไร่ต่อครัวเรือน

“หลังจากเดินหน้าโครงการประกันรายได้ยางพาราระหว่างการทำงานก็จะเร่งหารือแนวทางดำเนินโครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังต่อไป โดยกรมการค้าภายในจะเร่งเชิญ 3 ฝ่าย คือ เกษตรกร ภาคเอกชน และหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อเข้ามาหารือถึงทิศทางและแนวปฏิบัติในโครงการประกันรายได้รวมถึงราคาประกันด้วย”