เครื่องสำอางพาเหรดเข้าจีน ขายออนไลน์ฉลุย-ได้ยกเว้นพิธีศุลกากร

รุกตลาด cross-border e-Commerce ตลาดค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนเจาะลูกค้าจีน 830 ล้านคนสุดบูม หลังจีนยืดเวลาส่งออกเครื่องสำอางข้ามพรมแดนไม่ต้องจดแจ้ง อีก 1 ปี ส.ผู้ผลิตเครื่องสำอาง คาดดันยอดส่งออกปีེ โต 5% สวนทางเศรษฐกิจโลก

นางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าลดลงจากปีที่ผ่านมาจากเศรษฐกิจโลกไม่ขยายตัวและประเทศผู้นำเข้าได้รับผลกระทบ แต่แนวโน้มในปี 2562 อุตสาหกรรมนี้ยังมีโอกาสเติบโต 5% โดยเฉพาะส่งออกเครื่องสำอางไปตลาดจีนยังเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ ทั้งนี้ ในแต่ละปีจีนเป็นตลาดเครื่องสำอางที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นตลาดใหญ่ ล่าสุดจีนได้ขยายการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (cross-border e-Commerce) มากขึ้น และไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกเครื่องสำอางข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องจดแจ้ง หรือต้องผ่านพิธีทางศุลกากร ขยายระยะเวลาต่อไป 1 ปี ช่วยทำให้สามารถดำเนินการซื้อ-ขายและส่งออกได้สะดวกมากขึ้นและเป็นโอกาสที่ดีของเอสเอ็มอี

“ปัจจุบันยังพบว่าผู้ประกอบการไทยยังทำตลาดในจีนน้อย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ทั้งนี้ มูลค่าตลาดเครื่องสำอางในประเทศจีนมีมูลค่ากว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นตลาดใหญ่ และมีอัตราการค้าที่เติบโตอย่างมาก ทั้งตลาดรูปแบบการค้าปกติและการค้าออนไลน์ โดยตลาดออนไลน์ข้ามพรมแดน (cross-border e-Commerce) ในตลาดจีนกำลังเติบโตอย่างมากจากอดีต ภายหลังที่จีนเปิดตลาดการค้าอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ส่งผลให้การซื้อขายผ่านพรมแดนสะดวกและรวดเร็วมาก ผู้ส่งออกมีต้นทุนการส่งออกสินค้าไปจีนลดลง”

อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ส่งออกเครื่องสำอางข้ามพรมแดนได้โดยไม่ต้องจดแจ้งยังมีข้อจำกัดอยู่บางประเภท เช่น เฉพาะกลุ่มเครื่องสำอางชนิดบำรุงผิวเท่านั้น สินค้ารายการอื่นยังไม่ได้รับอนุญาต แต่ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ควรที่ใช้โอกาสนี้ในการทำตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค เพราะต้องยอมรับว่าผู้บริโภคจีนให้การยอมรับคุณภาพของสินค้าของไทย โดยต้นทุนการส่งออกนั้นยังน้อยมากแต่สิ่งที่คำนึงคือการที่จะทำให้สินค้าไทยเข้าตลาดออนไลน์ได้อย่างไร และทำให้ผู้บริโภคจีนเห็นสินค้าไทยเพราะคู่แข่งตลาดเครื่องสำอางนั้นทั่วโลก รวมถึงคู่แข่งในจีนด้วย และสิ่งสำคัญทำอย่างไรให้สินค้าไทยอยู่ในหน้าแรกของหน้าออนไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องจัดทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นตลาดอย่างมาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่าการผลิตเครื่องสำอางของไทย 2.8 แสนล้านบาท เป็นการส่งออกราว 1.2 แสนล้านบาท และขายในประเทศ 1.6 แสนล้านบาท

สำหรับสิ่งสำคัญที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการทำตลาดให้กับผู้ประกอบการให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีปัจจุบันมีเพียง 3 รายที่เข้าทำตลาด ซึ่งรุกตลาดโดยเอกชนเอง ซึ่งไม่นับรวมเอกชนรายใหญ่ที่สามารถทำตลาดได้อยู่แล้ว จึงมองการสนับสนุนจากภาครัฐอีกทั้งต้องการให้มีการรวบรวมฐานข้อมูลผู้ผลิต ผู้ส่งออก ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางด้วยเนื่องจากไม่มีฐานข้อมูลที่ชัดเจนยากต่อการส่งเสริมอย่างมาก

นางสาวพิมพ์ขวัญ อดิเทพสถิตย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจจีน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การใช้อินเทอร์เน็ตของคนจีนมีผู้ใช้กว่า 830 ล้านคน จากประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้นิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ มูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยถึง 2.6 เท่า โดยคาดว่าอีก 3 ปี ตลาดออนไลน์จะมีอัตราการขยายตัว

อีก 30-40% และที่สำคัญการซื้อสินค้าของคนจีนจะนิยมซื้อสินค้าต่างประเทศตามพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่คนจีนนิยมมาท่องเที่ยวมากจึงส่งผลให้สินค้าไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี การค้นหาเพื่อซื้อผ่านช่องทางต่าง ๆ มากขึ้น

“การทำตลาด cross-border e-Commerce ในตลาดจีนกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด มีช่องทางในการเข้าทำตลาดมากมาย ผู้ประกอบการควรใช้โอกาสเข้าไปทำตลาดให้มากขึ้น เพราะต้นทุนน้อยกว่าการค้าปกติและไม่มีอัตราเสียภาษีที่สูง จึงทำให้สามารถแข่งขันได้ โดยมีแพลตฟอร์มรายใหญ่ เช่น อาลีบาบา ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดสูง ผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกช่องทางที่เหมาะสมกับสินค้าได้ อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าออนไลน์ของคนจีนยังมีข้อจำกัดวงเงินซื้อสินค้าไม่ให้เกิน 5,000 หยวนต่อคน และไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี เป็นต้น”