“บุณยฤทธิ์” วอร์รูมส่งออก ส่องปัจจัยบวก-ฝ่ามรสุมส่งออกติดลบ

War room กระทรวงพาณิชย์ เกาะติดสงครามการค้า-ตัวเลขส่งออก สารพัดปัจจัยลบ และโอกาสของประเทศไทย ดีเดย์ประชุมหาทางออกในวันที่ 7 ตุลาคม 2562

ก่อนเข้านั่งเป็นประธานวอร์รูม ร่วมวงถกวาระด่วน “นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” อภิปรายทางออก-ทางรอด ของการยืนยันตัวเลขส่งออกให้ได้ตามเป้าหมาย

Brexit กระทบไทย-โลก

อาจจะไม่เหมือนตอนที่เราเคยดีลกับอังกฤษ ตอนอยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อม เพราะอังกฤษก็เป็นตลาดใหญ่ สิ่งที่ต้องเจรจาใหม่หมดจะต้องแก้ไขปรับปรุงอะไร ไม่ว่าเป็นอัตราภาษี หรือกฎระเบียบต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาในการเข้าตลาด

กรณี Brexit with no deal ก็คือ อังกฤษหลุดออกมาจากอียูเฉย ๆ เลย แบบไม่มีข้อตกลงรองรับ จะกลายเป็นเหมือนครอบครัวใหม่ ไม่เป็นลูกเป็นหลานอะไรกับอียูเลย คือจะยิ่งยากกว่า สำหรับการเจรจาของไทยเหมือนนับหนึ่งใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่่องนี้ที่ไทยต้องเจอ ยังมีอีกหลายประเด็น ทั้งเทรดวอร์ก็เป็นเรื่องที่ต้องดู เพราะมันจะยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ยังมีสินค้าที่อาจปรับอัตราภาษี รวมถึงปัญหาค่าเงินบาท เป็นปัจจัยภายนอกที่เราอาจทำอะไรไม่ได้มากตรงนั้น การประชุมครั้งนี้เพื่อรับฟังความเห็นผู้ส่งออกว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง

บุกถึงตัวลูกค้า-วัคซีนดันส่งออก

รองนายกรัฐมนตรีสั่งการมาแล้วว่า เราทุกคนต้องเป็นเซลส์ บทบาทและภารกิจต้องเน้นหนักการนำเสนอให้มากขึ้น ทุกคนต้องไปพบกับผู้นำเข้าทั้งรายเดิมและรายใหม่ โดยเราจะต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมของเราไว้ ส่วนรายใหม่เราจะต้องแนะนำให้เขารู้จักสินค้าไทย ซึ่งต้องสามารถนำเสนอได้ว่าสินค้าไทยดีกว่าสินค้าประเทศอื่นอย่างไร ต้องขีดเส้นใต้ไว้เลย เพราะหากสินค้าในโลกนี้เหมือน ๆ กันหมด แล้วทำไมเขาจะต้องซื้อจากไทย เช่น เพราะคุณภาพดีกว่า น่าเชื่อถือ หรือเทอมการชำระเงินดีกว่า หรือมั่นใจเรื่องการขนส่ง นอกจากนี้ รัฐจำเป็นพิจารณาว่ามีกฎระเบียบอะไรที่เป็นอุปสรรคการค้าขาย ก็ต้องปลดล็อก เช่น เรื่อง ASEAN Single Window ต้องเร่งให้เต็มที่ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าในอาเซียน

คิกออฟ FTA ทุกเขตการค้า

เอฟทีเอช่วยอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องพยายามทำให้มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็คือ ช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของเรามากขึ้น ช่วงนี้ตามสภาพความเป็นจริง คือ โลกนี้กำลังแข่งกันทำเอฟทีเอ เราก็ต้องไปร่วมแข่งกับเขาด้วย สมมุติว่าเวียดนามมีเอฟทีเอกับอียู (EVFTA) ถ้าไทยไม่มี ก็ไม่สามารถส่งออกสินค้าแบบเดียวกับเวียดนามไปอียูได้ เพราะเวียดนามจะได้ลดภาษี 0% ใครจะสั่งสินค้าไทยที่ต้องเสียภาษี 30% ฉะนั้นต้องเร่งทำเอฟทีเอที่ค้างอยู่ในไปป์ไลน์ ทั้งเอฟทีเอไทย-อียู เป็นหนึ่งในนั้น เราได้รับนโยบายมาแล้ว ต้องเข้าร่วมแน่ แต่อาจจะเร็วที่สุดได้เมื่อไรอาจจะเดือนตุลาคม หรือมกราคม 2563 ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) นอกจากนั้นยังมี CPTPP ตามลำดับ โดยในระหว่างนี้เราก็เร่งการทำงานกราวนด์เวิร์ก

เจรจา FTA อังกฤษหลังเบร็กซิต

อยู่ที่ใครจะเปิดฉากก่อน การแบไต๋ก่อนไม่ได้เสียเปรียบ แต่เราต้องรอบคอบ เวลานี้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการเจรจา FTA ไทย-อังกฤษ แล้วว่าหากแยกแบบโนดีล แล้วจะมีสินค้าอะไรเป็นเป้าหมายของเรา สินค้าใดที่ต้องตั้งรับถ้าอังกฤษรุกขอเปิดตลาด ถ้ามองแล้วผลประโยชน์เกิดก็คงจะดำเนินการ ซึ่งการเจรจา FTA กับอียู และอังกฤษ สามารถทำคู่ขนานได้ ไม่น่ามีปัญหา ถ้าหากอังกฤษออกจากอียูแล้ว อังกฤษก็เป็นเหมือนอีกประเทศหนึ่ง

มูฟออน FTA ตลาดใหม่

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศศึกษาอยู่ โดยหลักการเชิงนโยบาย คือ เอฟทีเอเป็นสิ่งที่ดี หากเราทำการศึกษาอย่างรอบคอบ มองผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือเวลาทำเอฟทีเอส่วนหนึ่งเป็นผลบวก ส่วนหนึ่งจะมีคนที่เสียจากการเปิดตลาด หน้าที่ของรัฐ คือ จะทำอย่างไรให้ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นบวก และจะมีวิธีการเยียวยาคนที่

เสียประโยชน์อย่างไร การทำกองทุนเอฟทีเอก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เรามองว่าระยะยาวจะสร้างความแข็งแกร่งได้อย่างไร ซึ่งแนวทางที่เคยทำ คือ โมเดลเนื้อโพนยางคำในสมัยก่อนกลัวเปิดเอฟทีเอกับออสเตรเลียแล้วจะมีเนื้อออสเตรเลียทะลักเข้ามากระทบผู้เลี้ยง เรากับกลุ่มเกษตรกรโพนยางคำมาสู้ร่วมกัน ถึงทุกวันนี้เนื้อโพนยางคำสามารถขายบนห้างประชันกับเนื้อจากต่างประเทศได้สบาย เพราะคุณภาพใกล้เคียง ราคาถูกกว่า นี่เป็นโมเดลหนึ่งในการเยียวยา นี่คือหน้าที่ของภาครัฐ

ดันยืนส่งออก 3% ปีหน้า 3.5%

ยังยืนยันตรงนี้ เป้าหมายการทำงาน คือ สิ่งที่เราต้องการเห็น ต้องเข้าใจก่อนว่าเป้าหมายการส่งออกไม่ใช่การคาดการณ์ว่าส่งออกจะได้เท่านั้นเท่านี้ แต่เป็นเป้าหมายการทำงานของกระทรวง ที่ต้องมุ่งไปให้ได้ ไม่ว่าตัวเลขส่งออกปัจจุบันเรารู้สึกว่าจะต้องเหนื่อยอีกเยอะในช่วง 3-4 เดือนสุดท้าย

แต่อย่างที่ท่านรองนายกฯมอบนโยบายว่า ถ้าเราตั้งเป้าหมายน้อย 3% แล้วทำให้ได้ตามเป้าหมายก็ดี แต่ถ้าเราตั้งเป้าหมายการทำงาน 10% แล้ว เราทำได้ 7% มันน่าภูมิใจกว่า