กยท.ผนึก ทีทีซีแอลลงนาม MOU การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน หวังเพิ่มมูลค่า-ช่องทางตลาดไม้ยางให้เกษตรกร

กยท.ผนึก ทีทีซีแอลลงนาม MOU การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน มุ่งพัฒนาสวนยางตามมาตรฐานสากล หวังเพิ่มมูลค่า-ช่องทางตลาดไม้ยางให้เกษตรกร เผยทีทีซีแอลเตรียมทุ่ม 4,500 ล้านขึ้นโรงงานผลิต”แบล็ก เพลเลท” 3 โรงที่สุราษฎร์ธานีและจังหวัดใกล้เคียง ต้องรับซื้อเศษไม้ยางจากสวนยางที่ผ่านมาตรฐาน FSCtm ถึงเดือนละ 1.2 ล้านตันไม้สดป้อน เพื่อส่งออกให้โรงไฟฟ้าถ่านหินในญี่ปุ่น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันนี้ (3 ต.ค.62) นายสุนันท์ นวลพรหมสุกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และนายฮิโรโนบุ อิริยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากล” มุ่งพัฒนาสวนยางตามมาตรฐาน ยกระดับและเพิ่มมูลค่าไม้ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ยางแปรรูป พร้อมหาช่องทางตลาดทั้งในและต่างประเทศให้เกษตรกร

โดยนายสุนันท์ กล่าวว่า กยท.ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาและกำหนดเกณฑ์การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากลมาตลอด มีการจัดทำระบบมาตรฐานการจัดการสวนยางการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน มอก.14061 มอก.2861 PEFC tm และ FSC tm โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รวมถึงสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ

นอกจากนี้ กยท.ได้ยื่นขอรับรองมาตรฐาน FSCtm ให้สวนยางจำนวน 8,050 ไร่ โรงงานน้ำยางข้น และโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราของ กยท.เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบการขอรับรองมาตรฐานให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และเปิดรับเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยให้ปฏิบัติตามระบบมาตรฐานการจัดการสวนยางเพื่อขอการรับรองต่อไป ซึ่งล่าสุดมีเกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC tm แล้ว 287,500 ไร่

“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาและกำหนดเกณฑ์การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากลต่างๆ เช่น มาตรฐาน FSC tm , PEFC tm โดยให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุง พัฒนาการจัดการสวนยางของตนเอง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าน้ำยางและไม้ยาง รวมไปถึงผลผลิตอื่นๆ ในสวนยาง เช่น พืชแซมยาง พืชร่วมยาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยการนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางตลาดทั้งในและต่างประเทศ ถือเป็นการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราอย่างครบวงจร ที่ยังคำนึงถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป”

นายจิรวัฒน์ สุกปลั่ง ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายขายและพัฒนาธุรกิจ บมจ.ทีทีซีแอล กล่าวว่า บริษัทจะรับซื้อเศษไม้ยางพาราขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้วขึ้นไปจากสวนยางที่ผ่านมาตรฐาน FSC tm ในราคาที่ซื้อขายตามท้องตลาด (ความชื้น 45%) ตันละ 700-900 บาทแล้วแต่สถานการณ์ โดยจะลงทุนตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งดำหรือโรงงาน ควอลิฟายล์ ไบโอแมส ผลิต”แบล็กเพลเลท “ที่สุราษฎร์ธานีและจังหวัดใกล้เคียง 3 โรงๆ ละ 1,500 ล้านบาท กำลังการผลิต “แบล็ก เพลเลท” โรงละ 1.2 แสนตันต่อเดือน ซึ่งจะต้องรับซื้อเศษไม้ยางเดือนละ 4 แสนตันสด ส่งออกไปให้โรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท อิเด็นมิตซึ ในญี่ปุ่น นำไปผสมกับถ่านหินไม่เกิน 10% จากเป้าหมายในระยะยาวที่จะผสม 30% เพื่อช่วยลดมลภาวะ ระยะเวลาก่อสร้างโรงละ 15-18 เดือน ซึ่งจะสร้างต่อเนื่องกันไปจนถึงปี 2021 ในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงกับสุราษฎร์ธานี

“เรานำร่องทำเรื่องนี้ในไทยก่อนจะไปดำเนินการในประเทศอาเซียนอื่นๆ เพราะมีความชัดเจนในการระบบมาตรฐานการจัดการสวนยางที่ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งมีความชัดเจนในเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ปลูก และประเทศผู้ซื้อยอมรับ ปัจจุบันอิเด็นมิตซึซื้อไวท์ เพลเลทและแบล็กเพลเลทจากแคนาดาอยู่ก่อนแล้ว”