สทนช.เตรียม “แผนน้ำ 5 ปี” ป้อนอุตฯ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษอีสาน

น้ำเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ซึ่งบริบทเดิมพึ่งพาแม่น้ำโขงเป็นหลัก แต่เกิดปัญหาทั้งแล้งและอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา จึงถือเป็นความท้าทายที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ต้องเริ่มวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำบริหารจัดการน้ำใหม่ ควบคู่แผนแม่บทและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) ที่ไม่เพียงเน้นป้อนเศรษฐกิจพิเศษ แต่ต้องทำควบคู่ทุกมิติทั้งภาคเกษตร โลจิสติกส์ และสังคมด้วย

ดีมานด์น้ำ 5 ล้าน ลบ.ม.

ดร.สมปอง บุญประเสริฐ ผู้จัดการโครงการศึกษาพัฒนาการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ หนองคาย นครพนม มุกดาหาร กล่าวว่า เบื้องต้น 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท พีซีบีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท วายพี คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ กรุ๊ป คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ประเมินความต้องการใช้น้ำเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัด ปริมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. (พื้นที่ 1,000 ไร่) ระยะแรก ซึ่งยังไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ยังเป็นเพียงอุตสาหกรรมเบาไม่ใช่ขนาดใหญ่

นายสิริวิชญ กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สทนช. กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการบริหารจัดการน้ำภาคอีสานขณะนี้ คือ สภาพอากาศและความเปลี่ยนแปลงโลกส่งผลให้ลุ่มน้ำหลักภาคอีสาน “โขง ชี มูล” เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก การจัดหาแหล่งน้ำสำรองจึงสำคัญ จากที่เคยสูบน้ำโขงอย่างเดียวในอดีตคงไม่เพียงพอ คณะกรรมการลุ่มน้ำจึงต้องปรับรูปแบบบริหารจัดการใหม่ การจัดสรรน้ำโดยเฉพาะการป้องกันการแย่งน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญทั้งต่อภาคเกษตรและอุตสาหกรรม

เร่งโปรเจ็กต์น้ำอีสาน 5 ปี

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสทนช. กล่าวว่า สทนช.เร่งรัดโครงการศึกษาการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจังหวัดหนองคาย นครพนม และมุกดาหาร เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (area based) ระยะ 5 ปี (ปี 2561-2565) และเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีโครงการเร่งด่วน อาทิ โครงการประตูระบายน้ำ ลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร วงเงิน 2,100 ล้านบาท โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.อุดรธานี จ.หนองคาย วงเงิน 21,000 ล้านบาท รวมทั้งจัดหาสำรองแหล่งน้ำ

ทั้งโครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาและวางท่อขยาย โครงการประตูระบายน้ำห้วยบังอี่ ประตูระบายน้ำห้วยบางทราย จ.มุกดาหาร โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ประตูระบายน้ำสุรัสวดี จ.สกลนคร สะพานร่วมใจขาด สะพานข้ามลำเซบก ซึ่งเป็นอุปสรรคการระบายน้ำ จ.อุบลราชธานี

จากการประเมินศักยภาพพื้นที่ 3 จังหวัด พบว่า ยังมีศักยภาพอีกมากแต่ขาดแหล่งน้ำกักเก็บและขาดการเชื่อมโยงข้อมูลจากลำน้ำสาขา สปป.ลาว โดยเตรียมแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.หนองคาย เพิ่มเติมอีก 24.92 ล้าน ลบ.ม. จ.นครพนม เพิ่มเติมอีก 34.59 ล้าน ลบ.ม. และ จ.มุกดาหาร เพิ่มเติมอีก 39.31 ล้าน ลบ.ม ดังนั้น โครงการนี้จะช่วยกักเก็บและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจค้าชายแดนที่มีมูลค่าการค้าหลายแสนล้านต่อปี เชื่อมโยงเส้นทางสายไหม One Belt One Road จากจีน

“เราจะใช้เวลา 1 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2563 ทุกขั้นตอนของการศึกษาจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้หลักการบริหารจัดการน้ำคล้ายคลึงกับ EEC ศึกษาทั้งเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม แต่ต้องยอมรับว่าตอนนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ประกอบกับจีน ลาวมีแหล่งน้ำเองมากขึ้น เราจะนิ่งเฉยไม่ได้ จึงได้หารือผู้แทนระดับสูงลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้างพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน”