“วงษ์พาณิชย์” ขยะแบรนด์ไทย ปักหมุดทั่วโลก

สัมภาษณ์

การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การเติบโตของเมือง ทำให้ประชากรมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ขยะของเสียมีมากขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลที่ดีจะส่งผลกระทบสภาพแวดล้อมรุนแรงขึ้น

หลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว หันมาคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐของประเทศนั้น ๆ เป็นอย่างดีเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่มีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทยแม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้และมีนโยบายรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะอย่างถูกวิธีตามแนวคิดหลัก 3 R (reduce, reuse, recycle) แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะมีปริมาณขยะตกค้างไม่ได้รับการรีไซเคิลแต่ละปีมหาศาล

“ดร.สมไทย วงษ์เจริญ” ประธานกรรมการ บริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จำกัด ผู้บุกเบิกธุรกิจรีไซเคิลขยะ ที่เวลานี้ขยายฐานแฟรนไชส์วงษ์พาณิชย์ ธุรกิจรีไซเคิลขยะทั้งในอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ฯลฯ สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับปัญหาขยะ โอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคจากประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 40 ปี

คนไทยทิ้ง 470 ล้านบาทต่อวัน

“ดร.สมไทย” บอกว่า สถานการณ์ขยะในประเทศไทยปี 2561 มีปริมาณขยะ 27.93 ล้านตัน เป็นผลมาจากที่คนไทยทิ้งขยะ 400 กก./คน/ปี โดยปกติแล้วขยะเหล่านั้นเข้าระบบรีไซเคิล 80 เปอร์เซ็นต์ หรือ 320 กก./คน/ปี ซึ่งราคาขยะมวลรวมตั้งแต่พลาสติก ขวดแก้ว อะลูมิเนียมเฉลี่ย กก.ละ 8 บาท เท่ากับว่าคนไทยทิ้งขยะ 470 ล้านบาท/วัน

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ คือ ขยะทุกชิ้นต้องนำกลับหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์ได้ และผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์ต้องใช้วัสดุที่รีไซเคิลให้หมด เช่น ขวดพลาสติกใส PET (polyethylene terephthalate) นำไปผลิตรองเท้า, กระเป๋า, ผ้าห่ม, จีวรพระ, เสื้อนักเรียน, กางเกงยีนส์ เป็นต้น และการรณรงค์เรื่องขยะต้องทำตั้งแต่ต้นทาง ให้ความรู้กับประชากรตั้งแต่วัยเด็ก เน้นสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ และรีไซเคิล

“ลดภาษี” แรงจูงใจธุรกิจสีเขียว

อย่างไรก็ตาม ขยะในประเทศไทยจะหมดได้ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยมากขึ้นเน้น 3 ด้าน หนึ่ง ให้ความสนใจกับการสร้างสังคมรีไซเคิล และสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนมากขึ้น เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯรับผิดชอบเรื่องวิจัย กระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันอุตสาหกรรมรีไซเคิล กระทรวงพาณิชย์ร่วมสร้างตลาด กรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมเรื่องการแปรรูปขยะให้เกิดประโยชน์ ขณะที่กระทรวงการคลัง ซัพพอร์ตเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะถ้าผู้ประกอบการได้เงินลงทุนที่ดอกเบี้ยต่ำ จะทำให้อุตสาหกรรมคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลน่าสนใจมากขึ้น

สอง มุ่งเน้นการสร้างตลาดอุตสาหกรรมรีไซเคิลระดับนานาชาติ ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขยะรีไซเคิล ซึ่งปัจจุบันบริษัทในเครือของวงษ์พาณิชย์ ผลิตแหจับปลาจากพลาสติกรีไซเคิลส่งออกไปอินโดนีเซีย ได้รับการตอบรับดีมาก

สาม ยกเว้นภาษีทุกกรณี เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะคนเก็บขยะไม่มีที่มาของภาษีซื้อ มีแต่ภาษีขายและเมื่อยอดขายสูง การเก็บภาษีขายทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่อยู่ในวงจรที่สมบูรณ์, ภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.) 90, 91, ภาษีสังคมรังเกียจ หรือภาษีเก็บสิ่งของเหลือใช้ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งเทศบัญญัติท้องถิ่นจัดเก็บมานานแล้ว รวมทั้งภาษีศุลากรในเขตส่งออกควรต้องปลอดภาษี เช่น การไปเก็บขยะในเขตนิคมอุตสาหกรรมประกอบการเสรี (free trade zone) เพื่อสร้างแรงจูงใจ เปิดโอกาสให้นักลงทุนหันมาสนใจแสวงหารายได้จากการประกอบธุรกิจโลกสีเขียว อย่างธุรกิจรีไซเคิลกันมากขึ้น

ต่างชาติไปไกล-ไทยล้าหลัง

ตัวอย่างการสนับสนุนจากภาครัฐของประเทศที่เจริญแล้วอย่าง ไต้หวัน และปักกิ่ง อุตสาหกรรมรีไซเคิลได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล เช่น ให้เช่าที่ดินทำธุรกิจฟรี 99 ปี ลดค่ากระแสไฟฟ้า ยกเว้นภาษีทุกกรณี ทำให้อุตสาหกรรมเขาเติบโต สามารถถล่มตลาดไทยได้ ที่น่าเสียดายคือการใช้ความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้เกิดประโยชน์กับประเทศ มีผู้ประกอบการรีไซเคิลขวดที่ทำจาก PET หลายราย พัฒนาเป็นแผ่นฟิล์มหุ้มอาหาร หรือพลาสติกบรรจุอาหาร และได้รับความนิยมในเนเธอร์แลนด์อย่างมาก แต่รัฐบาลไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้ PET รีไซเคิลมาผลิตเป็นที่บรรจุอาหาร ซึ่งล้าหลัง เพราะตลาดโลกยอมรับการใช้สิ่งนี้มานานแล้ว ว่าปลอดภัย

แม้กระทั่งสหภาพยุโรป (อียู) ก็บังคับให้ผู้ผลิตมีกระบวนการใช้พลาสติกที่ต้องมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล 30% จึงส่งออกไปอียู ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ได้ ดังนั้นหากไทยเข้าถึงตลาดนี้จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้มาก และยิ่งผลักดันให้การขับเคลื่อนสังคมรีไซเคิลรวดเร็วขึ้น

วิกฤตธุรกิจขยะรีไซเคิล

“ดร.สมไทย” บอกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา อุตฯรีไซเคิลไทยถดถอย เนื่องจากรัฐให้มีการนำเข้ากระดาษรีไซเคิลจากต่างประเทศ รวมถึงอะลูมิเนียม ทำให้ราคาขยะในประเทศถูกลง คนไม่อยากเก็บ ประชาชนขาดแรงจูงใจในการคัดแยก เป็นการรบกวนห่วงโซ่ทางสังคมทรัพยากรหมุนเวียนในประเทศ ตอนนี้บางจังหวัด เช่น อุดรธานี, ขอนแก่น ร้านสะดวกซื้อหลายแห่งนำเศษกระดาษมากองให้คนมารับซื้อ แต่หาคนซื้อยากรัฐบาลต้องสร้างตลาดอุตสาหกรรมรีไซเคิลให้มั่นคง คนเก็บขยะจะไม่ต้องกลัวว่าเก็บมาแล้วไม่ได้ราคา ช่วยสร้างรายได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจน รากหญ้า ให้พวกเขารอดตายจากการเก็บขยะ ลดปัญหาความยากจน

ขยะแบรนด์ไทยปักหมุดทั่วโลก

สำหรับแฟรนไชส์วงษ์พาณิชย์ ที่รวบรวมวัตถุดิบจากหลุมฝังกลบขยะ และของเหลือใช้จากครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ขณะนี้มีทั้งหมด 1,761 สาขาทั่วประเทศ, 9 สาขาใน สปป.ลาว, 3 สาขาในกัมพูชา, 2 สาขาในมาเลเซีย และในญี่ปุ่น และ 4 สาขาในรัฐแมริแลนด์ และรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เป็นธุรกิจในเครือวงษ์พาณิชย์ 100%

ทั้งยังเตรียมขยายอีก 2 สาขา ในรัฐวอชิงตัน ถือเป็นเรื่องน่าภูมิใจของคนไทย ที่การคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลได้รับการสนับสนุนอย่างดี ส่วนการขยายสาขาของวงษ์พาณิชย์ในไทย เพิ่มขึ้นปีละ 100 สาขา โดยลงทุนเอง ร่วมลงทุนและขยายแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นสัดส่วนมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์

ไม่แปลกที่เจ้าพ่อรีไซเคิลขยะเมืองไทย “ดร.สมไทย” จะตั้งคำถามทิ้งท้าย “ขยะจะไม่กลายเป็นทองคำได้อย่างไร ?”