คิกออฟ “กม.กองทุนน้ำมัน” ครม.ไฟเขียวยุบเลิก “สบพน.”

สนธิรัตน์เผยยุบเลิก “สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน” เปลี่ยนเป็น “สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” หลัง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 บังคับใช้ 24 ก.ย.เป็นต้นไป

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบรายละเอียดเกี่ยวกับการยุบเลิกสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) หรือ สบพน.ซึ่งทางกระทรวงเสนอตามมาตรา 44(3) พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และได้กำหนดให้เปลี่ยนชื่อสำนักงานใหม่เป็น สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นับจากวันที่ 24 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 โดยกำหนดให้มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน หรือใน

วันที่ 24 กันยายน 2562 พร้อมกำหนดบทเฉพาะกาลให้โอนเงิน ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน รวมถึงงบประมาณ ตลอดจนพนักงานและเจ้าหน้าที่ของ สบพน. ไปเป็นของสำนักงานใหม่ ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนในบทบาท อำนาจหน้าที่ และประโยชน์ของเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ

รายงานข่าวระบุว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดอยู่ในหมวด 3 ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ระบุว่า สำนักงานนี้จะมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณหรือกฎหมายอื่น และให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมีอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 19 ทั้งหมด 10 ด้านคือ

1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ

2) จัดทำแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งรายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติการ

3) กู้เงินตามมาตรา 26 ซึ่งระบุว่ากองทุนต้องมีจำนวนเงินเพียงพอ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน40,000 ล้านบาท เมื่อกองทุนมีเงินไม่เพียงพอดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุน (มาตรา 5) ให้สำนักงาน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการและโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกู้ยืมเงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

4) เสนอแผนการเงินและงบประมาณประจำปีต่อคณะกรรมการ

5) จัดทำรายงานประจำปีและความเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสำนักงาน รวมทั้งรายงานการเงินและบัญชี เสนอต่อคณะกรรมการ

6) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพย์สินใด ๆ

7) ก่อตั้งสิทธิหรือทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สิน

8) ดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ที่่เกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุน หรือการบริหารกองทุนและกิจการอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการกองทุน

9) ปฏิบัติการตามที่ ครม. รัฐมนตรี และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือคณะกรรมการมอบหมาย

และ 10) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด