“เฉลิมชัย” เทงบเกษตร 3 กรม กรมชล-ประมง-สหกรณ์ ฟาด 74,818 ล.

ชำแหละงบประมาณปี”63 “ก.เกษตรฯ” 1.1 แสนล้าน เน้น 5 หน่วยงาน กรมชลประทาน กรมประมง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กยท.นำโด่ง ลดงบฯหน่วยงานในกำกับ “3 รมช.” ด้านสภาเกษตรฯ แนะช่วยเกษตรกรต้องยั่งยืน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงได้เสนอของบประมาณไปทั้งสิ้น 110,873.0223 ล้านบาท หากเทียบงบประมาณปี 2562 รวม 108,539.324 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ของงบประมาณรายจ่ายรวม อย่างไรก็ตามการพิจารณาปรับลดหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจคณะกรรมาธิการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดตั้งขึ้นจะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง

หากแจกแจงงบฯรายกรม หน่วยงานส่วนราชการทั้งหมด 18 หน่วยงาน พบว่า หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ประกอบด้วย กรมชลประทาน ยังคงเป็นหน่วยงานได้รับงบประมาณมากที่สุด 69,031 ล้านบาทจาก 65,643.2 ล้านบาท กรมประมง 4,444.2 ล้านบาท จาก 4,096.9 ล้านบาทกรมส่งเสริมสหกรณ์ 3,151.5 ล้านบาทจาก 3,101.6 ล้านบาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 647.7 ล้านบาท จาก 644.4 ล้านบาท สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) (พกฉ.) 213 ล้านบาท จาก 198.7 ล้านบาท และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพิ่มขึ้นจาก 14.6 เป็น 80 ล้านบาท

“กรมชลประทานยังคงเป็นหน่วยงานได้รับงบประมาณมากที่สุด 69,031 ล้านบาท เนื่องจากมีโครงการสำคัญ แต่ก็มีการปรับเพื่อให้สอดรับแผนแม่บทและบริหารจัดการน้ำ 20 ปี ดังนั้นจะเน้นเพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำ แก้มลิง และรองรับภัยธรรมชาติ แต่เนื่องจากต้องจำแนกแยกตามงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ แผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยแบ่งส่วนหนึ่งให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มูลค่าประมาณ 41,456 ล้าน จากปีที่ผ่านมา กรมชลประทานสูงสุดเต็มเม็ดเต็มหน่วย 65,000 ล้านบาท รองลงมาเป็น กรมส่งเสริมการเกษตร 6,051 ล้านบาท จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มผลิตภาพสินค้าเกษตรแปลงใหญ่ ยกระดับรายได้เกษตรกร และกรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน และกรมวิชาการเกษตร”

ส่วนนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล12 เรื่อง ที่กระทรวงเกษตรฯเกี่ยวข้อง มีทั้งสิ้น 8 เรื่อง วงเงินประมาณ 20,925 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.แก้ปัญหาดำรงชีวิต 1,348 ล้านบาท

2.เพื่อรองรับความผันผวนเศรษฐกิจ 3.8 ล้านบาท

3.พัฒนานวัตกรรม 5,505 ล้านบาท

4.ยกระดับศักยภาพแรงงาน 16 ล้านบาท

5.วางรากฐานเศรษฐกิจสู่อนาคต smart farmer 235 ล้านบาท

6.แก้ปัญหายาเสพติดชายแดนใต้ 159 ล้านบาท

7.พัฒนาระบบบริการประชาชน 70 ล้านบาท

และ 8.ภัยแล้งและอุทกภัย 13,584 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า หน่วยงานที่อยู่ใต้กำกับดูแลของนายเฉลิมชัยที่ได้รับงบประมาณน้อยลง คือ สำนักงานปลัดกระทรวง กรมหม่อนไหม สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) มีเพียงสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) (พกฉ.) ที่ได้รับงบเพิ่มขึ้น

ขณะที่หน่วยงานในกำกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ 3 คน ปรากฏว่า กรมการข้าว, กรมปศุสัตว์, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งมีนายประภัตรโพธสุธน ดูแลได้รับงบประมาณลดลงทั้งหมด และหน่วยงานในกำกับของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กำกับดูแล ทั้งกรมพัฒนาที่ดิน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ลดลงทั้งหมด ส่วนหน่วยงานที่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ กำกับดูแล เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ปรับลดลง มีเพียงกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทีได้รับงบเพิ่มขึ้น

ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการมอบนโยบายกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลต้องปรับแก้ปัญหาภาคเกษตรด้วยการมุ่งเน้นบริหารจัดการน้ำพัฒนาโครงการน้ำ แหล่งน้ำ แก้มลิงเพื่อรองรับการระบายน้ำท่วม และน้ำแล้งดังนั้น งบประมาณจึงทุ่มไปที่โครงการน้ำเป็นสำคัญ โดยย้ำว่าที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถเพิ่มพื้นที่แหล่งน้ำในระยะเวลา 5 ปี กว่า 3,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีมากกว่า 4 เท่ากว่ารัฐบาลก่อนหน้า

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงการดำเนินงานกระทรวงเกษตรฯขณะนี้ว่ากระทรวงทุ่มงบประมาณและโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมากเกินไป ต้องมีความยั่งยืนมากกว่านี้ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการพึ่งรัฐบาลไปตลอด แต่เนื่องจากรัฐบาลยังไม่เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้ทำโครงการด้วยตนเองไม่ควรทำลักษณะ “รัฐแจกยาพาราให้เกษตรกรแต่ควรต้องผ่าตัดใหญ่” ดันภาคเกษตรให้ยั่งยืน จากการแปรรูปส่งออก ดังนั้นขอให้รัฐบาลฟังเสียงสภาในฐานะผู้ใกล้ชิดเกษตรกร เพราะที่ผ่านมา นโยบายปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาทิ อ้อย ข้าวโพด และมันสำปะหลังไม่มีความยั่งยืน


“2 เดือนการทำงานที่ผ่านมามองว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรยังคงช่วยเหลือในระยะสั้น หากอยากให้เงินเข้ากระเป๋าเกษตรกรในระยะยาวควรส่งเสริมในเรื่องอาชีพ และสนับสนุนให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองจะเป็นวิธีที่ดีกว่า”