‘สมคิด’ สั่งลุยชิมช้อปใช้เฟส2 แก้เงื่อนไขรับสิทธิ์ปิดจุดอ่อน

“สมคิด”สั่งคลังลุย “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 ไตรมาส 4 นี้ จับมือ “ออมสิน-ธ.ก.ส.” ดึงร้านค้าชุมชนทั่ว ปท.เข้าร่วม ศึกษาบทเรียน ปรับเงื่อนไขให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น ทั้งพิจารณาเปิดให้ ใช้สิทธิ์ได้ทุกจังหวัดยกเว้นภูมิลำเนา จ่อแบ่งรอบเวลาลงทะเบียนใหม่ เผย 10 จังหวัดยอดใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ดัน “ชิม ช้อป ใช้ 2” ปลายปี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังคาดว่าจะออกมาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ศึกษาเตรียมการเรื่องนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่าจะมีการดึงร้านค้าที่เป็นเครือข่ายลูกค้าของธนาคารทั้ง 2 แห่ง ซึ่งมีร้านค้ารวมกันกว่า 1 แสนราย เข้ามาร่วมโครงการเพิ่มเติม จากเดิมที่ใช้เครือข่ายของธนาคารกรุงไทย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในระดับชุมชนมากขึ้น

“มั่นใจว่าจะกระตุ้นไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งจะทำให้สอดคล้องกับแพ็กเกจการท่องเที่ยวปลายปีที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาออกมาล่าสุด และจะกระตุ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้าด้วย แต่จะเป็นลักษณะอย่างอื่น” นายอุตตมกล่าว

ปรับเงื่อนไข-ปิดจุดอ่อน

นอกจากนี้ รมว.คลังระบุด้วยว่า ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 อาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบของมาตรการ ให้ง่ายต่อการเข้าถึงของประชาชนมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการศึกษาและนำเอาผลการดำเนินงานของมาตรการในระยะแรก มาวิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อเสีย อีกครั้งหนึ่ง เช่น การลงทะเบียนเพื่อใช้จ่ายในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ก็อาจกำหนดให้ใช้ได้ทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดที่ผู้ลงทะเบียนมีภูมิลำเนาอยู่ รวมทั้งสนับสนุนร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน และการท่องเที่ยวในเมืองรอง เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา นายสมคิดได้ประชุมร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยภายหลังการประชุม นายสมคิดให้สัมภาษณ์ว่า ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปีนี้ จะเติบโตไม่ต่างจากไตรมาส 2 จึงพยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4

ให้กลับมาดีขึ้น ด้วยชุดมาตรการชิม ช้อป ใช้ เนื่องจากได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชน จึงได้สั่งให้ รมว.คลังไปประเมินผลมาตรการ และพิจารณาล่วงหน้าว่า หากมีเฟส 2 จะต้องขยายผลให้ครอบคุลมฐานรากอย่างกว้างขวางได้อย่างไรบ้าง ซึ่งมองว่าในช่วงปลายปีเป็นช่วงไฮซีซั่น หากมีมาตรการออกมาก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เห็นผลดีขึ้น

งบฯไม่ใช่ปัญหา-หลักการมาก่อน

“ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะเข้ามาเสริมชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 เป็นเรื่องที่จะพิจารณาทีหลัง แต่หลักการต้องมาก่อน เพราะการจะทำมาตรการต่าง ๆ ออกมา เชื่อว่ากระทรวงการคลังมีแบบแผนรองรับอยู่แล้ว ซึ่งการออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการดูแลเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ต้องการให้มาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ครอบคลุมถึงเศรษฐกิจฐานราก โดยต้องมีร้านค้าเข้าร่วมเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งได้ให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ซึ่งมีร้านค้าที่เป็นลูกค้าธนาคารอยู่แล้วราว 1 แสนราย ให้ไปชักชวนร้านค้าชุมชนมาเข้าโครงการ ซึ่งจะส่งผลดีไปถึงโครงการที่รัฐพยายามผลักดันในอนาคต ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯก็มีมาตรการร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย ออกมาเชื่อมต่อกับมาตรการชิม ช้อป ใช้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเนื่องในไตรมาส 4

ใช้งบฯกลางหนุนชิม ช้อป ใช้ 2

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เรื่องงบประมาณคงต้องพิจารณาว่าสามารถขอใช้งบประมาณส่วนใดได้บ้าง เนื่องจากช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.-ธ.ค. 2562) เป็นช่วงที่ต้องเบิกจ่ายตามกรอบงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน เนื่องจากการจัดทำงบประมาณปี 2563 ล่าช้าออกไปกว่า 1 ไตรมาส โดยกฎหมายงบประมาณน่าจะพิจารณาในกระบวนการรัฐสภาเสร็จในเดือน ม.ค. 2563

“เป็นไปได้ว่าอาจต้องขอใช้งบฯกลาง เนื่องจากชิม ช้อป ใช้ เฟส 1 ที่ทำไปก็ใช้งบฯกลาง หรืออาจไปดูว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯมีงบฯส่วนไหนให้นำมาใช้ได้บ้าง” แหล่งข่าวกล่าว

ชงปรับรอบเวลาลงทะเบียน

นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวว่า จะได้เห็นมาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 ออกมาภายในปี 2562 นี้แน่นอน โดยเป้าหมายผู้ใช้สิทธิ์ชิม ช้อป ใช้ เฟสต่อไป คาดว่าจะมากกว่าเฟสแรกที่กำหนดไว้ที่ 10 ล้านคน และการลงทะเบียนรับสิทธิ์อาจจะเปิดเป็นรอบให้มีหลายช่วงเวลามากขึ้น เนื่องจากพบว่าเฟสแรกที่ออกมานี้ ประชาชนได้รับความยุ่งยากจากการรอลงทะเบียนในช่วงหลังเที่ยงคืน ต้องอดหลับอดนอน ทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถลงทะเบียนได้

“ส่วนตัวเตรียมเสนอให้เปิดรอบลงทะเบียนให้มีหลายช่วงเวลา หรือจัดสรรปันส่วน ตามโมเดลโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำงานแบบเข้ากะดึกกะเช้า ซึ่งรูปแบบนี้ประชาชนจะสามารถเข้าถึงการลงทะเบียนได้ทุกกลุ่ม หรืออาจจะเสนอให้เริ่มเปิดลงทะเบียนได้ตั้งแต่หลัง 08.00 น.เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี ชิม ช้อป ใช้ เฟส 2 จะออกมารูปแบบใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผลการประเมินมาตรการเฟสแรกที่จะออกมาก่อนด้วย เพื่อนำปัญหาไปปรับแก้ไขเฟส 2 ให้ดีขึ้น” นายชาญกฤชกล่าว

ยอดใช้ผ่านโมเดิร์นเทรด 22%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากที่เปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” วันละ 1 ล้านคน จำนวน 10 ล้านคน ซึ่งมีการลงทะเบียนเต็ม 1 ล้านคนทุกวัน โดยวันที่ 5 ต.ค.นี้ จะมียอดให้ลงทะเบียนประมาณ 2 แสนราย ซึ่งรวมมาจากยอดที่ลงทะเบียนไม่ผ่านในแต่ละวัน

ล่าสุดได้มีการตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียน 9 วันแรกเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ 7,142,914 ราย ซึ่งผู้ลงทะเบียน 8 วันแรกได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์แล้ว 6,344,295 ราย โดยมีผู้เข้ายืนยันตัวตนในแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” แล้ว 4,970,444 ราย ยืนยันตัวตนสำเร็จ 4,031,751 ราย และมีผู้ที่ยังไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชั่น 1,373,451 ราย

สำหรับขณะที่การใช้จ่าย 7 วันแรก มีผู้ใช้สิทธิ์แล้วจำนวน 1,258,551 ราย ยอดใช้จ่ายประมาณ 1,144 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 1 (เงิน 1,000 บาท) ประมาณ 1,131 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน “ช้อป” ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ ประมาณ 616 ล้านบาท ส่วนร้าน “ชิม” หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มมียอดใช้จ่ายประมาณ 155 ล้านบาท ร้าน “ใช้” เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ เป็นต้น มียอดใช้จ่ายประมาณ 16 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไปยอดใช้จ่ายประมาณ 344 ล้านบาท

ส่วนร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาพบว่า มีการใช้จ่ายประมาณ 261 ล้านบาท หรือ 22% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนการใช้จ่ายช่อง 2 (แคชแบ็ก 15%) มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 4,604 ราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 13.1 ล้านบาท

10 จังหวัดยอดใช้จ่ายสูงสุด

นายลวรณกล่าวว่า ประชาชนมีการใช้จ่ายกระจายครบ 77 จังหวัดโดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ (1) กรุงเทพฯ 164 ล้านบาท (2) ชลบุรี 81 ล้านบาท (3) สมุทรปราการ 54 ล้านบาท (4) ปทุมธานี 37 ล้านบาท (5) ระยอง 34 ล้านบาท (6) พระนครศรีอยุธยา 33 ล้านบาท (7) ลำพูน 32 ล้านบาท (8) เชียงใหม่ 30 ล้านบาท (9) นครปฐม 29 ล้านบาท และ (10) นนทบุรี 27 ล้านบาท โดยกลุ่มที่ใช้จ่ายมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 22-30 ปี 34% รองลงมาคือ ช่วงอายุ 31-40 ปี 28% และเกิน 60 ปี 5%

ทั้งนี้ ประชาชนผู้สนใจยังสามารถลงทะเบียนได้ โดยระบบจะทยอยเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติม ตามจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนไม่ผ่านในแต่ละวัน ซึ่งจะมียอดกลับเข้าระบบในรอบ 3 วันทำการ โดยสามารถตรวจสอบได้จาก www.ชิมช้อปใช้.com นอกจากนี้ ธนาคารกรุงไทยจะเปิดทำการสาขาจำนวน 429 แห่ง ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ พร้อมจัดรถเคลื่อนที่เข้าไปในชุมชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการยืนยันตัวตนสำหรับติดตั้งแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ให้กับประชาชน


นายลวรณกล่าวว่า กระทรวงการคลังประมาณการว่า มาตรการชิม ช้อป ใช้ เฟสแรก จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.2-0.3% จากสมมุติฐานจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น จากการใช้จ่ายเงิน 1,000 บาทแรก 1 หมื่นล้านบาท และจากการใช้จ่ายที่มีแคชแบ็กอีก 5 หมื่นล้านบาท