เอกฉันท์! 9-1 แบน 3 สาร 1 ธ.ค.ห้ามผลิต-นำเข้า-ส่งออก ลุ้นชงคกก.ชี้ขาดโค้งสุดท้าย 27 ต.ค.นี้

มนัญญา จับมือผู้แทน 4 ภาคส่วน ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 ขณะที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้เห็นชอบตามนโยบายทั้งมนัญญาและอนุทิน

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังประชุมผู้แทน 4 ภาคส่วน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อหาข้อสรุปในการยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน จึงให้ผู้แทนภาครัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภคร่วมกันหารือถึงปัญหา การแก้ไข และผลกระทบ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจกันและหาวิธีได้เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมว่า รัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อผู้นำเข้าสาร 3 ชนิดดังกล่าว

อย่างไรก็ตามการประชุม ทางสมาคมอารักขาพืช ไม่ได้ส่งตัวแทนร่วมด้วย โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจต่างประเทศ แต่ภายหลังการประชุมทั้งหมดลงมติเป็นเอกฉันท์ในทิศทางเดียวกัน คือโหวตให้ยกระดับสาร 3 ชนิด จากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 เป็นวัตถุอันตราย ประเภทที่ 4 คือวัตถุอันตรายห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง และให้ยกเลิกใช้สาร 3 ชนิด ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นต้นไป

นางสาวมนัญญากล่าวว่า เพื่อเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมุ่งหวังให้วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นวันที่ประเทศไทยปลอดสารพิษ มีพืชพันธุ์ธัญญาหารบริโภคอย่างปลอดภัย ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 จะต้องไม่มีการใช้ 3 สารอันตรายดังกล่าวในประเทศไทยอีกต่อไป โดยร้านค้าที่มีสารดังกล่าวจำหน่าย จะต้องส่งคืนให้แก่บริษัททั้งหมด สำหรับผลสรุปจากการพิจารณาความคิดเห็นของทั้ง 4 ฝ่าย ในวันนี้ จะรวบรวมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทราบต่อไป รวมทั้งเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 ตุลาคม 2562 นี้ โดยผู้แทนของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้แสดงจุดยืนที่จะขอให้มีการลงมติโหวตอย่างเปิดเผยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้วย

“คณะกรรมการวัตถุอันตรายพูดมาตลอดว่าจะเห็นด้วยกับกระทรวงเกษตร ดังนั้น1-2 วันนี้จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้คณะกรรมการฯ ซึ่ง กระทรวงเกษตรฯ มีจุดยืนชัดเจนที่จะยกเลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด โดยเร่งรัดกรมวิชาการเกษตรให้หาสารทดแทนที่จะไม่กระทบกับเกษตรกรทั้งเรื่องของความเป็นพิษ ราคาต้นทุน และคุณภาพ”

ด้านน.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ระบุเห็นด้วยที่จะให้มีการพิจารณาสารเคมี 3 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 เนื่องจากเป็นนโยบายของ น.ส.มนัญญา ที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเปรียบเป็นผู้บริหารระดับสูง ที่มีนโยบายเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การพิจารณายกเลิก ต้องมีข้อมูลทางวิชาการและข้อเท็จจริงในเชิงประจักษ์และมีความชัดเจน ครบถ้วน รอบด้าน ว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ จึงมีมติตามที่ประชุมให้ยกระดับสารเคมีเป็นประเภทที่ 4

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันนี้ได้มีมติชัดเจน 9 ต่อ 1 เสียง ชัดเจนแล้วว่าต้องแบนทันที ตามมติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือขอให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา เพื่อปรับระดับควบคุมวัตุอันตรายพาราควอตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้มีผลโดยเร็ว

“วันนี้ผมยิ้มออกแล้ว ทุกอย่างต้องจบตั้งนานแล้ว หลังจากนี้มั่นใจได้เลยว่า 1 ธ.ค. นี้สารเคมีพวกนี้จะหายไปจากประเทศไทย”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้มีมติเห็นชอบ มีดังต่อไปนี้ พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ รักษาการนายแพทย์เชี่ยวชาญ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธาณสุข, พญ.ชุลีกร ธนธิติกร นพ.ชำนาญการพิเศษ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข,น.ส.สุภาวดี ทับทิม ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ สังกัดนิคมชะอำ จ.เพชรบุรี, น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผอ.สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม,น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร,น.ส.วิไลวรรณ พรหมคำ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานคณะที่ปรึกษารมช.กษ. และนายมนตรี ปาป้อง นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ แต่เนื่องจากสมาคมอารักษาพืชไม่ได้ส่งตัวเเทนมาจึงนับเป็นเอกฉันท์ที่ 9 ต่อ 1 เสียง