เขย่างบฯแผนน้ำ 3.1 แสนล้าน สทนช.สกัดเสี่ยงวิกฤต ‘ท่วม-แล้ง’ ปี’63

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เหตุน้ำท่วมน้ำแล้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “แผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ”

เพื่อรับมือภัยธรรมชาติฝนฟ้าในปี 2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้แต่งตั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน “คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ” ทำหน้าที่บูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในแต่ละเขตลุ่มน้ำ ให้มีเสถียรภาพมั่นคงและยั่งยืน สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำประเภทต่าง ๆ ตามศักยภาพของพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแผนงบประมาณแบบบูรณาการด้านทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่บทบาทการกำกับดูแลหน่วยงานหลักที่มีงบประมาณด้านน้ำก้อนโตอย่าง “กรมชลประทาน” ยังอยู่ในกำกับของ “นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ

ความน่าสนใจอยู่ที่งบประมาณปี 2563 เพื่อขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนกันยายน 2562 วงเงินรวม 311,429 ล้านบาท มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 28 หน่วยงาน จาก 9 กระทรวง ซึ่ง สทนช.จะพิจารณาโครงการที่สอดรับนโยบายบริหารจัดการน้ำหลักของประเทศไทย

5 หลักเกณฑ์คัดเลือกโครงการ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญและการคัดเลือกโครงการน้ำ แบ่งเป็น 5 ด้าน คือ 1) โครงการควิกวิน เป็นแผนงานโครงการที่สำคัญสอดคล้องกับประเด็นเร่งด่วนของประเทศ 2) โครงการพระราชดำริและโครงการตามนโยบาย 3) ด้านการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ 4) ด้านการแก้ไขปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ 5) ความพร้อมด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสังคม เป็นต้น

สำหรับงบฯตามแผนงานและโครงการขับเคลื่อนแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 311,429 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่มงานหลัก (กราฟิก) ประกอบด้วย 1) งบฯตามวาระ (agenda) 185,020 ล้านบาท คิดเป็น 59.4% ซึ่งมีแผนงานบูรณาการน้ำ 21 หน่วยงาน ใน 8 กระทรวง วงเงิน 179,867 ล้านบาท อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน กรมฝนหลวงฯ กรมพัฒนาที่ดิน กรมปศุสัตว์ จัดรูปที่ดิน ส.ป.ก.) กรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) มีแผนบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.), แผนงานบูรณาการการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยการประปาส่วนภูมิภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) แผนบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคม และระบบโลจิสติกส์ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้โดยกรมโยธาฯ เป็นต้น

2) งบประมาณตามพื้นที่ (area) รวม 90,297 ล้านบาท คิดเป็น 28.9% ซึ่งแบ่งเป็น แผนบูรณาการพัฒนาพื้นที่ ระดับภาค และท้องถิ่นทั้ง กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสุดท้าย คือ 3) แผนงานตามภารกิจ (function) 36,112 ล้านบาท คิดเป็น 11.6% ใน 5 หน่วยงาน คือ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปานครหลวง กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.)

ถก กนช.รับมือน้ำท่วมน้ำแล้ง

แหล่งข่าวจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) จะประชุมอีกครั้งในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อประเมินสถานการณ์หลังจากเกิดภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ ส่งผลให้โค้งสุดท้ายผันผวนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และแน่นอนว่าจะเจอปัญหาน้ำอย่างนี้บ่อยครั้งขึ้น และรุนแรงขึ้นอีก ส่วนการป้องกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำ จะมีรองนายกฯ (ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานอนุกรรมการ จะประชุมหารือต่อเนื่อง แต่คาดการณ์ว่าปีหน้าลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไม่กระทบ เพราะปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ ที่น่าห่วงคืออีสาน เช่น โคราช น้ำน้อยทุกอ่าง ส่วนกาฬสินธุ์ หนองหาน ปริมาณน้ำเกือบเต็ม

เกลี่ยงบฯลงโครงการเร่งด่วน

ขณะเดียวกัน สทนช.เตรียมสรุปรายละเอียดในการใช้งบประมาณแผนบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ 2557-2562 คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจเช็กตัวเลข จากนั้นจะเป็นประกาศอย่างเป็นทางการว่าใช้งบฯด้านใดเท่าไร โครงการบางประเภทที่เห็นว่าไม่เกิดประโยชน์จะปรับลดสัดส่วนงบฯลง ทั้งนี้ ในจำนวนงบฯด้านน้ำรวม 3 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับทุกปี หลัก ๆ เป็นงบฯในส่วนของกรมชลฯ 4-5 หมื่นล้านบาท

ที่สำคัญ เพื่อให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และรับมือวิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น สทนช.มีแนวคิดจะปรับแผนลงทุนใหม่เพื่อรับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน จากเดิมแผนที่วางไว้ไม่ได้ดูตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ต่อจากนี้ไปต้องนำมาประกอบการวางแผนงาน

พื้นที่ใดมีความเสี่ยงสูงจากเดิมจะกระจาย ๆ ไป ภาคโน้นภาคนี้ตามเป้าหมายด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ปัจจุบันต้องปรับมาดูในเรื่องความเสี่ยงแต่ละพื้นที่ ถ้าเสี่ยงสูงอาจต้องใส่เงินงบประมาณให้ก่อน เกลี่ยงบฯไปในพื้นที่ที่จำเป็นก่อน เช่น อีสานเสี่ยงมาก แต่ก็มีโอกาสที่อากาศจะแปรปรวนคาดการณ์ได้ยาก เช่น ฝนไปลงที่อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ แต่ที่อื่นไม่มี เท่ากับทุกคนเสี่ยงหมด

จึงต้องดูว่าใครเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย ต้องปรับให้ทันสถานการณ์