ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ TU ลดสัดส่วน “ตลาดสหรัฐ”

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าเงินบาทแข็งค่า ต้นทุนวัตถุดิบที่ผันผวน แต่ยอดขายไตรมาส 2/2562 ของบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) กลับสร้างกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 13% โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง มียอดขาย 13,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% และยังมีการเติบโตเชิงปริมาณถึง 10% “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ” ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม ธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง TU ถึงทิศทางธุรกิจโค้งสุดท้ายของปีนี้ และแนวโน้มปี 2563

ปี”63 แนวโน้มผลประกอบการดี

ภาพรวมปี 2563 คาดว่า ทียูจะมีผลประกอบการออกมาดี ส่วนหนึ่งจากการตั้งงบฯสำรองกรณีคดีฟ้องร้องในส่วนของบริษัท Chicken of the Sea สิ้นสุดแล้ว 1,400 ล้านบาท ในปี 2562 รวมถึงในปี 2562 แม้จะประสบปัญหาไม่ต่างจากบริษัทส่งออกอื่น ๆ คือ ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากประมาณการที่ทำแผนไว้ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ปีที่ผ่านมากำไรทั้งปี 2562 ทียูยังสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

กลยุทธ์ครึ่งปีหลัง

แต่ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงสงครามการค้าช่วงปีนี้และครึ่งปีหลัง ส่งผลให้บริษัทปรับลดบทบาทในตลาดสหรัฐอเมริกา เดิมจากที่ส่งออกสหรัฐอเมริกา 65% ขณะนี้เหลือเพียง 30% เท่านั้น เพราะเป็นตลาดเป้าหมายของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้การแข่งขันสูง จึงลดความเสี่ยงโดยการกระจายไปตลาดอื่นด้วย โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งเพิ่มตลาดในประเทศ เพื่อจะไปชดเชยตลาดสหรัฐ จีน ฮ่องกง เกาหลี ซึ่งญี่ปุ่นเป็นตลาดเก่าที่ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง

รวมถึงตลาดอียูลดไปเยอะ จาก 40,000 ตันในอดีตเหลือ 5,000 ตันเท่านั้น ผลจากเบร็กซิต(อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป) และภาพรวม 5 ปีที่ถูกตัด GSP (สิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร) จึงไม่เน้นไปที่ตลาดอียูเท่าที่ผ่านมาทียูจะเน้นความสามารถในการทำกำไร บริหารจัดการต้นทุนการผลิตและนวัตกรรมการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทำให้ทิศทางความสามารถการทำกำไรยังตามเป้าที่กำหนดไว้เพิ่มขึ้น 15-16% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้น 14 %เท่านั้น ซึ่งปีนี้จะโตขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ขยายตลาดกุ้งบุกจีน

สถานการณ์กุ้งในภาพรวมไทยปีนี้คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 2.8 แสนตันเพิ่มขึ้น 5% จากปีที่ผ่านมาที่ได้ผลผลิต 2.7 แสนตัน แต่ต่ำกว่าเป้าหมายที่กรมประมงคาดไว้ที่ 3 แสนตัน เนื่องจากเกษตรกรลงลูกกุ้งน้อย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะราคาไม่จูงใจ โดย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ที่ผ่านมา มีผลผลิตกุ้งเพียง 1.68 แสนตันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเพียง 0.3 % เท่านั้น

ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นกุ้งขาว 97% และกุ้งกุลาดำเพียง 3% โดยราคากุ้งในปีนี้เฉลี่ยแล้วยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าช่วงต้นปีราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเป็นเพราะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมีน้อย (low season) หลังจากนั้นราคาเริ่มลดลง จากผลผลิตของอินเดีย เวียดนาม และเอกวาดอร์ เริ่มออกสู่ตลาด โดยผู้นำเข้ารายใหญ่ยังเป็นสหรัฐอเมริกา ขณะที่กุ้งไทยได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า 6-8%

เชื่อไหมว่าวันนี้ เอกวาดอร์เป็นประเทศที่น่าจับตามาก เพราะเขาเพิ่มกำลังผลิตเป็น 6 แสนตันต่อปี ถือว่าเยอะมาก ขณะที่เวียดนามนำเข้าเยอะเพราะต้องการรักษาตลาด ส่วนอินเดียลดลงจาก 7 แสนตัน เหลือ 5 แสนตัน ทำให้ตลาดค่อนข้างแข่งขันกัน

“ตอนนี้ทียูมีส่วนแบ่งตลาดกุ้งของไทยประมาณ 8% หรือประมาณ 2.2-2.3 หมื่นตัน เราต้องขยายตลาดใหม่บ้าง จากเมื่อก่อนขายในตลาดจีนไม่เยอะ จนขณะนี้จีนนิยมบริโภคกุ้งมาก ส่วนใหญ่ส่งออกกุ้งเป็น ทำให้ตอนนี้ตลาดจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีนเติบโตดี ก่อนหน้าจีนจะเอาคนมาตั้งล้งและส่งสินค้ากุ้งกลับจีน ตอนนี้ไม่มีแล้ว เพราะจีนหันมาซื้อสินค้ากุ้งโฟรเซ่น”

คิวเฟรชฉลุย

เนื่องจากทียูมีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าใหม่ ๆ และสามารถคุมบริหารจัดการภายในหลาย ๆ อย่างประกอบกัน โดยเฉพาะกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น 10% คนไทยยังบริโภคเพิ่มขึ้น และเรามีคิวเฟรช ที่เป็นอีคอมเมิร์ซ โตขึ้นทุกปียอดขายจาก 2 แสนต่อเดือน เป็น 3 ล้านบาทต่อเดือนและตลาดในประเทศยังเติบโตดี คนยังกินอาหารทะเลโดยเฉพาะภัตตาคารที่เป็นลูกค้าเรามีกำลังซื้อต่อเนื่อง ส่วนผลกระทบค่าเงินบาทนั้น ทียูประเมินความเสี่ยงลงทุนทุกเดือน แต่ไม่ได้เก็งกำไรค่าเงิน ใช้วิธีบริหารความเสี่ยง ในกรณีธุรกิจปลา ซึ่งซื้อและขายเป็นรูปเงินสกุลดอลลาร์ ส่วนกุ้งทียูมีออร์เดอร์เข้ามาต่อเนื่อง ก็ขายในอัตราแลกเปลี่ยนในวันนั้นทำให้ลดความเสี่ยงเรื่องค่าเงินไป

“การแข่งขันธุรกิจด้านเกษตรและอาหาร จำเป็นต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี และเน้นเรื่องคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่น จะแข่งขันขายสินค้าราคาถูก แต่มีบ้างที่ปรับลดราคาเพราะถ้าฐานราคาเราสูงไป ลูกค้าก็เอาไปขายไม่ได้ บางครั้งต้องยอมให้ลูกค้าไปซื้อที่อื่นก่อนเพราะทียูลดราคาต่ำกว่าทุนไม่ได้”