อลหม่านประกันรายได้ยางพารา “ยางก้อนถ้วย”โวยขอชดเชยดอกเบี้ย3%

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์
ต้นทุนสูงกว่าแต่ราคาประกันรายได้น้อยกว่า เกษตรกรผู้ผลิตยางก้อนถ้วยโวยเพิ่มราคาประกันยางก้อนถ้วยอีกโลละ 2 บาท จาก 23 เป็น 25 บาท หวั่นปรากฏการณ์แห่ยืนยันสิทธิประกันรายได้ “น้ำยางสด” แทนยางก้อนถ้วย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 ส.ค. 2562 รวม 1.71 ล้านราย โดยกำหนดอัตราราคาประกันรายได้ยางแผ่นดิบคุณภาพดี กก.ละ 60 บาท, น้ำยางสด(DRC 100%) กก.ละ 57 บาท และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) กก.ละ 23 บาท มีเป้าหมายว่าจะเริ่มจ่ายรอบแรก ในวันที่ 1-15 พ.ย. 2562 ด้วยงบประมาณในโครงการรวม 24,278 ล้านบาท แต่ยังไม่ทันจะเสนอมติ กนย.ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรากฏว่ากลุ่มเกษตรกรต่างออกมาไม่เห็นด้วย อีกทั้งราคายางแผ่นดิบลดลงไปอีก กก.ละ 2-3 บาท จาก 37.73 เหลือ 34.25 บาท น้ำยางสดลดลง กก.ละ 2 บาท จาก 37.50 เหลือ 35.50 บาท และราคาส่งออกจาก 44.50 เหลือ 43.20 บาท

นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขานุการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุม กนย.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กนย.ไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่าย ซึ่งเสนอให้เพิ่มราคาประกันรายได้ยางก้อนถ้วย (DRC50%) จาก กก.ละ23 เป็น 25 บาท เพราะการผลิตยางก้อนถ้วยมีต้นทุนการดำเนินการสูงกว่า แต่กลับได้ราคาต่ำกว่าน้ำยางสดซึ่งไม่ได้มีการแปรสภาพอะไรเลย อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่กว่า 60% ผลิตยางก้อนถ้วย ส่วนผู้ผลิตน้ำยางสดมีประมาณ 17% และยางแผ่นดิบ 13% เท่านั้น นอกจากนี้ยังเสนอขอให้ปรับลดเงื่อนไขให้เกษตรกรรายย่อยได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยให้รายละ 15 ไร่ เพราะเป็นอัตราส่วนเฉลี่ยของที่ดินที่เกษตรกรรายย่อยกว่า 72%

“ยางก้อนถ้วยต้องมีการแปรสภาพเพื่อให้เก็บไว้ได้นาน แต่กลับได้ราคาประกันต่ำกว่าน้ำยางถึง กก.ละ 34 บาทซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุนของเกษตรกรเลยหากเป็นเช่นนั้นเชื่อว่าเกษตรกรจะต้องหันไปผลิตน้ำยางสดเพื่อให้ได้เงินชดเชยที่สูงกว่าเพื่อไม่ให้ขาดทุน ซึ่งกรณีนี้เกษตรกรต้องแจ้งยืนยันสิทธิว่าตนผลิตยางชนิดใด เพื่อให้ ธ.ก.ส.ทราบ โดยใน กนย.รายงานว่าเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับ กนย.ถึงวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา รวม 1.7 ล้านคน ซึ่งเป็นบัตรชมพู (ไม่มีเอกสารสิทธิ)3 แสน ส่วนคนกรีดยาง 3 แสนราย การจ่ายกำหนดว่าชาวสวนจะได้ 60% แต่คนกรีดได้ 40% โดยจะจ่ายให้ตัวแทนคนกรีด1 คน และให้ไปหารกันเองกลุ่มคนกรีดของสวนนั้น ๆ คนกรีดต่างด้าวที่มาขึ้นทะเบียนจะได้เงินหรือไม่ขึ้นอยู่กับเจ้าของสวน”

นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) เปิดเผยว่า นโยบายนี้ถือเป็นการใช้จ่ายเงินที่สิ้นเปลืองและต้องใช้งบประมาณปี 2564 เพราะงบปี 2563 แต่ละกระทรวงเต็มหมดแล้ว ทางออกในการแก้ปัญหายางตกต่ำรัฐบาลต้องดิ้นรนหาวิธีการแปรรูปใช้ภายในประเทศ และหาตลาดใหม่เพิ่มให้ได้

นายไพรัช เจ้ยชุม ประธานคณะกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง จำกัด เปิดเผยว่า ประชุมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง เตรียมเสนอ 6 ข้อถึงรัฐบาล

ได้แก่ 1.มาตรการชดเชยราคายางแผ่นรมควัน 3 บาท/กิโลกรัม ตามการซื้อขายในตลาด

2.ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3ต่อปี
3. ขยายเวลาชำระเงินกู้จากโครงการของรัฐบาล โครงการ 15,000 ล้าน ขยายออกไปถึงปี 2567
4. เรียกร้องให้หน่วยธุรกิจการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เข้าประมูลยางในตลาดกลางแข่งกับบริษัทเอกชน
5.ติดตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ
และ 6.ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ควบคุมยางอย่างจริงจังให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ กยท.