“ชิม ช้อป ใช้” เอาไม่อยู่ดัชนีความเชื่อมั่นไทยไม่ฟื้น ผู้บริโภคห่วงเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

นายธนวรรธย์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกันยายน 2572 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 มาอยู่ที่ระดับ 72.2 จากระดับ 73.6 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และปัญหาการเมือง แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในเดือนสิงหาคม 2562 วงเงิน 3.16 แสนล้านบาทก็ตาม

ทั้งนี้ การโอนเงินผ่านบัตรสวัสดิการ มาตรการประกันรายได้ มาตรการชิมชอปใช้ และการปล่อยสินเชื่อของธนาคารรัฐ ในภาพรวมยังไม่สามารถกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในทุกภาคส่วนปรับตัวสูงขึ้นได้ ประกอบกับขณะนี้ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง โดยเฉพาะยางพารา ที่มีราคาต่ำกว่า 40 บาทต่อกิโลกรัมอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ราคาอยู่ในกรอบ 40-45 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นแรงผลักสำคัญทำให้กำลังซื้อและเศรษฐกิจในต่างจังหวัดยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ส่งผลให้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลงจากระดับ 49.1 มันอยู่ที่ระดับ 47.9 ต่ำสุดในรอบ 18 ปีนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2544

อย่างไรก็ดี หอการค้าไทย ได้ประเมินผลจากการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลขณะนี้ ยังล่าช้าและยังไม่มีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเท่าที่ควร ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่มีโอกาสเป็นไปได้ว่าการเจรจาจะไม่ประสบความสำเร็จทำให้สหรัฐอาจมีการปรับขึ้นภาษีกับประเทศจีนในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2562 นี้ การประกาศออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรแบบไม่มีเงื่อนไข และธนาคารกลางสหรัฐ อาจมีการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ จากปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้การส่งออกไทย ทั้งปี ติดลบ 2% – ติดลบ 3% และเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า 3% หรือลดลงมาอยู่ที่ 2.6% – 2.8% แต่หากรัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจประมาณ 1-1.5 แสนล้าน และปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนไม่ยืดเยื้อ และเบร็กซิทไม่กระทบมากจนเกินไป คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส4 จะมีโอกาสเติบโตที่ 3% ได้