ร้อง “วอร์รูม” ถึง “กกร.พาณิชย์” “กระตุ้นบริโภคภายใน” ชดเชยส่งออกหด

ในการประชุมคณะทำงานวอร์รูม (war room) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ซึ่งมี นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมกับภาคเอกชน เปิดหารือถึงแนวทางการรับมือปัจจัยเสี่ยงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และการออกจากการเป็นสมาชิกของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) หรือ Brexit จากสหภาพยุโรป ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นการแยกออกโดยไร้ข้อตกลงรองรับ (Brexit with no deal) คาดว่าจะเห็นผลชัดในเดือนมกราคม 2563 และจากนั้นต้องติดตามเรื่องที่อังกฤษ ขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ( WTO) ว่าจะดำเนินการอย่างไร เป็นไปได้ว่าอังกฤษอาจไม่เก็บภาษีนำเข้าเป็นเวลา 1 ปี

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ส่งผลให้การส่งออกไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่วางไว้ 3% จากที่ผ่านมา 8 เดือนส่งออกไทยยังติดลบ 2.19%

ที่ประชุมครั้งนี้มีมติส่ง 4 ข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานพิจารณา แนวทางผลักดันต่อไป โดย 4 ข้อสรุปดังกล่าวประกอบด้วย

1.การป้องกันการสวมสิทธิสินค้า โดยใช้ไทยเป็นจุดนำผ่านการส่งออกไปยังสหรัฐหลังจากปัญหาสงครามการค้า ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และบังคับใช้ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) 2562 เพื่อตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD หรือที่เรียกว่า anticircumvention (AC)

2.ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าจนส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ทางภาคเอกชนเสนอให้ปรับโครงสร้างโดยลดการพึ่งพาการส่งออก หันมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และแก้ไขกฎระเบียบการนำเข้า เพื่อให้นำเข้าวัตถุดิบง่ายขึ้น ช่วยให้เอกชนสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและกระตุ้นการบริโภคสินค้าไทย

3.การผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ยังค้างอยู่ โดยเฉพาะไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เพื่อไม่ให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง และกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เอฟทีเอไทย-ตุรกี,ไทย-ศรีลังกา และไทย-ปากีสถาน

4. มาตรการดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ดึงนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ต้องย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) จะดำเนินการ

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เบื้องต้นยังประเมินตามมติที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ว่าการส่งออกไทยทั้งปีติดลบ 2% หากสถานการณ์เหล่านี้ยังยืดเยื้อไปกระทั่งการเลือกตั้งสหรัฐ เชื่อว่าการส่งออกปี 2563อาจติดลบ 3%

ดังนั้น ส.อ.ท.เห็นว่าประเทศไทยต้องลดการพึ่งพาการส่งออกจาก 70% ของจีดีพีให้เหลือ 50-60% อย่างจริงจัง โดยภาครัฐมีแพ็กเกจส่งเสริมเพื่อกระตุ้นการบริโภคสินค้าไทย เพื่อให้เอกชนลงทุนพัฒนาสินค้ามากขึ้น จากปัจจุบันที่เอกชนลงทุนลดลง และใช้กำลังการผลิตเพียง 60% จากปกติที่ใช้ 75-80%

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกทั้งปี 2562มีโอกาสเป็น 0% ถึงติดลบ 2% จากปัจจัยที่เกิดขึ้นคาดว่าจะยืดเยื้อไปถึงปี 2563 และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ

“เบื้องต้นอาจส่งเสริมให้เอกชนหันไปลงทุนใช้เครื่องจักรมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า ขณะที่อุตสาหกรรมบริการเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะส่งเสริมและสร้างรายได้ให้กับประเทศ”