“โรงสีเงินฝืด”ขอมาตรการเสริม ชดเชยดบ.เก็บยุ้งฉางขนานประกันรายได้

วอนรัฐประกาศ มาตรการคู่ขนานประกันรายได้ “ชะลอขายเก็บยุ้งฉาง-ชดเชยดอกเบี้ย” หลังสภาพคล่องโรงสีทั้งประเทศหด กำลังผลิตวูบ 50% หมดแรงดูดสต๊อก หวั่น “ราคาข้าวเหนียว-ข้าวหอมมะลิ” อ่วมแจกจ่ายชดเชยทะลุ 3 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าว เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 รอบที่ 1 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 15 ตุลาคมนี้ รัฐบาลกำหนดราคาประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตันข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท ครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาทครัวเรือนละ 16 ตัน

โดยคาดว่าในรอบแรกนี้จะมีเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าวขาวเท่านั้นที่ได้รับชดเชย ตันละ 2,200 บาทเนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าปรับลดลงเหลือ ตันละ 7,800 บาท ต่ำกว่าราคาประกันที่รัฐบาลตั้งไว้ ขณะที่ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียว มีราคาตันละ 18,000 บาท สูงกว่าราคาประกัน ส่วนข้าวหอมปทุมธานีมีราคาประมาณ 10,200-10,500 บาท ต่ำกว่าราคาประกันเล็กน้อยประมาณ 500-800 บาท

“ประเด็นที่ห่วง คือ รัฐบาลอาจต้องสูญเสียเงินจ่ายชดเชยให้เกษตรกรมากขึ้น เพราะการประกันรายได้รัฐบาลจ่ายส่วนต่างให้เกษตรกร แต่ไม่เข้าไปดูแลดูดซับปริมาณผลผลิตซึ่งคาดว่ายังมีข้าวเปลือก 31 ล้านตันเท่าเดิม เป็นข้าวเปลือกหอมมะลิ 8 ล้านตัน ข้าวเปลือกเหนียว 7 ล้านตัน และข้าวเปลือกเจ้า 9-10 ล้านตัน ซึ่งในอดีตมีโรงสีเข้าไปรับซื้อผลผลิตก้อนนี้เพราะกำลังการผลิตโรงสีมากกว่าข้าวถึง 3 เท่า หรือมีกำลังการผลิต 120 ล้านตัน แต่ผ่านมา5 ปีตอนนี้โรงสีหายไป 30% กำลังการผลิตเหลือ 55 ล้านตัน และคาดว่าใช้กำลังผลิตจริงประมาณ 40%”

ในหลายพื้นที่โรงสีปิดตัวไป เช่น เชียงรายเหลือ 2-3 โรง สุโขทัยเหลือ 2-3 โรง เพชรบูรณ์และนครสวรรค์หายไป 50% พิจิตรเหลือรายใหญ่ 2-3 โรง รายเล็กปิดไป 20% รายกลางอีก 10 กว่าโรง หรือแม้แต่อีสานทั้งสุรินทร์ ขอนแก่น นครราชสีมา ก็ไม่ต่างกันปัญหาสภาพคล่องยืดเยื้อมานานและยังมีปัญหาที่โรงสีคลังกลางในโครงการรับจำนำเดิมอีก 168 โรงที่อยู่ระหว่างรอผลพิจารณาเรื่องคดีข้าว ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้รับค่าฝากเก็บจากองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และไม่ได้หลักทรัพย์ค้ำประกัน L/G สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ

แนวทางที่รัฐบาลต้องดำเนินการ คือ ต้องประกาศโครงการรักษาเสถียรภาพราคาโดยการชะลอขายและให้เก็บไว้ในยุ้งฉาง คู่ขนานไปกับโครงการประกันรายได้ เสริมสภาพคล่องให้โรงสีเข้าไปช่วยดูดซับซัพพลายส่วนเกิน ซึ่งมาตรการนี้รัฐบาลจะใช้วงเงินเพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าไม่มาก แต่หากรัฐบาลไม่พิจารณาใช้มาตรการผลผลิตที่ออกมาเมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวมาพร้อมกัน ก็มีโอกาสทำให้ราคาตกต่ำลงได้

ทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งตลาดส่งออกข้าวที่ไม่ดีในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมายอดส่งออกลดลง ปัญหาบาทแข็งแข่งขันไม่ได้ การหาตลาดใหม่ยังค่อนข้างฝืดต้องรอให้รัฐบาลเจรจากับรัฐบาลอิรักเพื่อฟื้นคืนตลาดข้าวที่เคยสูญเสียไปกว่า 10 ปีให้กลับมา ซึ่งเท่ากับว่าหากไม่มีมาตรการคู่ขนานและส่งออกยังฝืดเช่นนี้มีโอกาสที่ราคาตลาดจะลดต่ำลงไปอีก ท้ายที่สุดรัฐบาลอาจต้องจ่ายส่วนให้เกษตรกรเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกรมการค้าภายใน กล่าวว่า มาตรการเสริมที่จะออกมาคู่ขนานกับมาตรการประกันรายได้ผ่านการพิจารณาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว มี 2 มาตรการหลักคล้ายกับปีที่ผ่านมา คือ 1) มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าว 3% จากอัตราปกติ และอัตรา 1% สำหรับสถาบันเกษตรกร ที่จะเข้าไปช่วยรับซื้อผลผลิต คาดว่าจะใช้เงินไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการข้าวในการเก็บสต๊อก ซึ่งได้ประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ประกาศว่าจะเริ่มดำเนินการเมื่อไร เนื่องจากยังติดเรื่องงบประมาณ

2) มาตรการคู่ขนาน กำหนด 4-5 แนวทางซึ่งหนึ่งในแนวทางนั้นคือ การชะลอการขายข้าว โดยการให้เก็บไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกร มาตรการกลุ่มนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดว่าจะใช้วงเงินเท่าไร และมีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีของรับจัดสรรเงินงบประมาณประจำปี 2563 จึงอาจจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการพอสมควร จึงอาจจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากการเริ่มโครงการประกันรายได้ไปแล้ว นอกจากนี้ยังไม่นับรวมมาตรการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตที่กระทรวงการคลังจ่ายให้เกษตรกรไปก่อนหน้านี้ รายละ 500 บาท

ล่าสุดนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ลงพื้นที่สัมมนาชี้แจงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 รอบที่ 1 (เกษตรกรที่ปลูกตั้งแต่ 1 เม.ย. 62-31 ต.ค. 62) ที่จังหวัดพิจิตร วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมาโดยอธิบายว่าเอกสารสิทธิ หรือที่ ส.ป.ก. ไม่ได้นำมาใช้ในการพิจารณา

สำหรับเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรว่าปลูกข้าวชนิดใด กี่ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวเมื่อใด ครบตามนี้ถือว่าได้สิทธิ โดยไม่จำเป็นต้องขายข้าวออกสู่ตลาดก็จะได้รับชดเชยส่วนต่างตามกำหนดระยะเวลาเกี่ยวที่แจ้งไว้ผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ผลิตข้าว ซึ่งมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน จะพิจารณาและประกาศราคาอ้างอิงครั้งแรกในวันที่ 16 ต.ค.นี้ จากการนำมูลค่าข้าวสารและผลิตภัณฑ์จากราคากรมการค้าภายในและราคาสมาคมโรงสีข้าวไทยเฉลี่ยย้อนหลัง 15 วัน ณ ตลาดกรุงเทพ แต่ละชนิด คูณอัตราสีแปรสภาพ หักค่าใช้จ่าย (ค่าสีแปรสภาพและค่าขนส่ง)