กษ.เข็น16 สารแทนพาราควอต “สมาคมอารักขาพืช” โผล่ค้านมติ 4 ฝ่าย

กรมวิชาการเปิดลิสต์ 16 สารทดแทน พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส “ไบโอไทย” แนะโมเดลมาเลเซีย จี้รัฐปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า-VAT ด้านมูลนิธิผู้บริโภคชี้ประชาชนร้อง 100 เคส แนะรัฐเพิ่มประกันรายได้เกษตรอินทรีย์เสริม “มิตรผล” นำร่องเลิกใช้ ด้านสมาคมอารักขาพืชไทยออกโรงค้านมติที่ประชุม 4 ฝ่าย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ก่อนประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 ต.ค.นี้ จะพิจารณาข้อสรุปว่าเป็นตามมติของที่ประชุม 4 ฝ่าย (รัฐ-ผู้นำเข้า-เกษตรกร-ผู้บริโภค) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ยกระดับสาร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส จากวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 เป็นประเภทที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครองครองนับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 62 หรือไม่นั้น หลายฝ่ายกังวลถึงมาตรการเยียวยาเกษตรกร

ล่าสุดแหล่งข่าวจากกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มีข้อมูลสารเคมีกำจัดวัชพืชประเภทต่าง ๆ ประมาณ 16 ชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพของสารที่จะใช้ทดแทนแล้ว

ขณะที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มูลนิธิเตรียมพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายก่อนการประชุมในวันที่ 27 ต.ค.นี้ เพื่อทราบแนวทางการลงคะแนนของคณะกรรมการในการพิจารณาประเด็นดังกล่าว และแนวนโยบายรัฐมนตรีซึ่งเคยยืนยันว่าจะยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด

“หากยกเลิกสารชนิดนี้จะกระทบต่อเกษตรกรไม่มาก เพราะปัจจุบันเรามีข้อมูลว่าชาวสวนยางที่ไม่ใช้สารกลุ่มนี้มีมากกว่า 80% และสวนปาล์มที่ไม่ใช้สารนี้กว่า 65%”

อีกทั้งทางกรมวิชาการเกษตรมีข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่จะนำมาทดแทนอยู่แล้ว และไทยสามารถศึกษาต้นแบบจากมาเลเซียซึ่งประกาศยกเลิกใช้ไปเมื่อ 6-7 เดือนก่อน โดยชาวสวนปาล์มมาเลเซียต่างให้ความร่วมมือเลิกใช้ เพราะผลกระทบไม่ใช่เพียงแค่สุขภาพประชาชน แต่ผลิตปาล์มที่ใช้สารเคมี ดังกล่าวจะไม่สามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้ตามมาตรฐาน RSPO ซึ่งเป็นมาตรฐานปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ชาวสวนจึงเปลี่ยนไปใช้การปลูกพืชคลุมดิน และใช้สารอื่นแทน

ทั้งนี้ ไบโอไทยพร้อมสนับสนุนการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืนต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว และขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ให้ได้เป้าหมายเพิ่มขึ้นปี 25% ให้ได้ 1 ล้านไร่ พร้อมจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ และมีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนที่ชัดเจน

“รัฐบาลต้องแก้ไขความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยหลักการคือ 1) ต้องไม่เก็บภาษีเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี และ 2) ต้องเก็บภาษีผู้ค้าสารเคมี ซึ่งภาษีที่ว่านี้คือ ภาษีนำเข้าซึ่งเดิมไทยเก็บภาษีที่ 30% ก่อนลดลงเป็น 10% และเหลือ 0% ในปี 2534-35 และภาษี VAT 7% ที่เดิมรัฐบาลเว้นให้กับผู้ค้าสารเคมีโดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ขณะที่ผู้ค้าสินค้าเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพการผลิต เครื่องจักรกลการเกษตร รถไถต้องเสียทั้งภาษีนำเข้าและ VAT ด้วย”

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามูลนิธิได้รับร้องเรียนผลกระทบจากสารเคมีดังกล่าวต่อผู้บริโภคกว่าร้อยราย อาทิ เกษตรกร จ.หนองบัวลำภู ที่ได้รับผลกระทบต่อจากการใช้สารเคมีนี้จนทำให้เนื้อเน่า การปนเปื้อนของสารเคมีนี้ในน้ำปู๋ใน จ.เชียงใหม่ และยังมีผลการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย ซึ่งจากการสำรวจผู้ประกอบการหลายรายยกเลิกการใช้สารเคมีนี้แล้ว เช่น น้ำตาลมิตรผล และมีประเทศเกาหลีที่แบนสารเคมีนี้ เพราะผลกระทบต่อสุขภาพเฉียบพลันด้วย

“เห็นด้วยที่จะแบนสารเคมี 3 ชนิด และมุ่งสู่การขยายพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์ โดยรัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับ เช่น การจัดสรรเงินประกันรายได้สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชอินทรีย์ให้ราคาสูงกว่าการปลูกพืชปกติ เช่น ข้าวอินทรีย์ ตันละ 13,000-15,000 บาท จากปกติตันละ 10,000 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจ การปลูกพืชอินทรีย์”

อีกด้านหนึ่ง ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ผู้ประสานงานสมาคม ร่วมกับสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมอารักขาพืชไทยได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยขอให้พิจารณาสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ แก้ไขผลการดำเนินการหารือ 4 ฝ่ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะไม่ได้รับฟังความเห็นจาก

ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 4 ส่วน ไม่ได้ดำเนินการปรับพื้นฐานความเข้าใจของทุกฝ่าย การคัดเลือกองค์คณะไม่มีตัวแทนเกษตรกรที่ใช้ 3 สารเคมีอย่างครบถ้วน และการลงมติอย่างเร่งด่วนขาดข้อมูลความเห็น หลักฐานเชิงประจักษ์แตกต่างไปจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่พิจารณาไปแล้ว และขาดวิธีการขั้นตอนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก ซึ่งต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย