จีไอที ร่วม ICA จัดประชุม ICA Congress 2019 แลกเปลี่ยนข้อมูลพลอยสี หวังดันมูลค่าเพิ่มส่งออกให้ไทย

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลอยสี ที่มีการเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและเพื่อย้ำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมผู้ประกอบการทั่วทุกมุมโลกกระทรวงพาณิชย์จึงมีแนวทางในการส่งเสริมและผลักดันตลาดดังกล่าว โดยมีตลาดเป้าหมายสำคัญ เช่น อินเดีย จีน สหรัฐ ฮ่องกง และยุโรป

ปัจจุบันพบว่ามูลค่าตลาดพลอยสี สูงถึง 4 แสนล้านบาทและยังช่วยส่งเสริมก่อให้เกิดการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ และเพื่อต่อยอดตลาดให้มีการเติบโต สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติหรือ GIT ร่วมกับ The International Colored Gemstone Association (ICA) จัดงาน ICA Congress 2019 ครั้งที่ 19 ที่กรุงเทพ ระหว่างวันที่12-15 ตุลาคม 2562 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าซึ่งได้รวมผู้ประกอบการจากทุกมุมโลกมาให้ความรู้ เพื่อที่จะใช้เป็นโอกาสในการขยายมูลค่าการส่งออกของประเทศไทยให้ได้ในอนาคต

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยระหว่างการจัดการประชุม ICA Congress 2019 ครั้งที่ 19 ว่า การประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการย้ำให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่อยู่ในวงการพลอยสีจากประเทศต่างๆ มีความมั่นใจและเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการด้านการผลิต การค้าพลอยสีจากทั่วทุกมุมของโลก

ทั้งนี้ ไทยยังได้ใช้เวทีการประชุมครั้งนี้ เปิดโอกาสให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพลอยทับทิม พลอยชนิดอื่นๆ ที่มีศักยภาพทางการตลาด การทำเหมืองและเทคโนโลยี การออกแบบ การวิเคราะห์ การตรวจสอบ และการออกใบรับรองคุณภาพพลอย แนวโน้มการค้าพลอยสี รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน สถาบันอัญมณีฯ ได้ประชาสัมพันธ์การจัดงานเทศกาลนานาชาติพลอยสีและเครื่องประดับ ที่จะจัดขึ้นที่จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 4-8 ธ.ค.2562 ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานต่างแสดงความสนใจที่จะเดินทางมาร่วมงาน

สำหรับ The International Colored Gemstone Association หรือ ICA เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ก่อตั้งเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมพลอยสีทั่วโลก โดยก่อตั้งขึ้นในปี 2527 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 700 ราย จาก 47 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ–ปลายน้ำ เช่น ผู้ประกอบการทำเหมืองพลอยสี ผู้เจียระไน ผู้ค้าปลีก สมาคมการค้าอัญมณี ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี รวมถึงสถาบันการศึกษา ซึ่งถือได้ว่าเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายด้านอัญมณีและเครื่องประดับที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุดองค์กรหนึ่งของโลก

ปัจจุบันการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีมูลค่าต่อปีประมาณ 1 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 6 %ของ GDP สามารถก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 7 แสนคนในอุตสาหกรรมนี้ สำหรับการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าในมณีและเครื่องประดับ รวมทองคำมีมูลค่า 1 1,452 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็น 6.90 %ของสินค้าส่งออกโดยรวม เพิ่มขึ้น 45.81 %