กลุ่มเกษตรกรชาวไร่มันต้าน “มนัญญา” แบนพาราควอต

วอนอย่าซ้ำเติม! ชาวไร่มันสำปะหลังบุกเกษตร ร้อง “มนัญญา” ฟังรอบด้านโอดมรสุมผลผลิตลด ต้นทุนเพิ่ม โรคใบด่างซ้ำ หวั่นทุบอุตสาหกรรม ย้ำไม่ค้านมติแต่อย่าแบนไร้เหตุผล

นายวชิระ ถนัดค้า ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กล่าวว่า ตนพร้อมด้วยเกษตรกรกว่า 60 ราย ตัวแทนครอบครัวเกษตรกรกลุ่มมันสำปะหลัง 1.5 ล้านราย เดินทางมาจากอำเภอหนองบุญมาก อำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มอบพวงหรีดให้แก่ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เหตุตัดสินใจไร้เหตุผลและขาดเท็จจริง อ้างผลกระทบสุขภาพประชาชน แต่ใช้ข้อมูลบิดเบือนจาก NGO

ทั้งนี้ เกษตรกรมันสำปะหลังยังมีความจำเป็นต้องใช้พาราควอต ปลอดภัยต่อหัวมันใต้ดินมากที่สุด เพราะพาราควอตไม่ดูดซึม ซึ่งชาวไร่มันไม่ขัดข้องหากที่สุดแล้วจะยกเลิก พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส แต่สำปะหลังซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารผ่านกระบวนการผลิตคุณภาพได้มาตรฐานสินค้าเช่นกัน

นอกจากนี้ ประเทศไทยผลิตมันสำปะหลังเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้งส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 100,000 ล้านบาท เป็นผลผลิตจากเกษตรกรไทย 542,000 ครอบครัว หรือ 1.5 ล้านราย ในพื้นที่ประมาณ 7.9 ล้านไร่ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคน อาหารสัตว์ เอทานอล และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเช่น กระดาษ กาว ยา เป็นต้น

ซึ่งจากประเด็นการแบนสารพาราควอตและให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในหลายด้านนั้นส่งผลกระทบต่อราคา ผลผลิตทางการเกษตร และมาตรฐานอุตสาหกรรมการผลิต ในความเป็นจริง การนำมันสำปะหลังไปใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร โรงงานผลิตมันสำปะหลังมีระบบประกันคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ISO GMP HACCP ขณะเดียวกัน สำนักงานมาตรฐานสินค้า ก็มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยพบสารพาราควอตในมันสำปะหลัง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อน ดังนั้น การห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูญหาย และกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและมันสำปะหลังเส้น จนถึงการส่งออกไปต่างประเทศ

“เกษตรกรชาวไร่มัน ต้องออกมาวันนี้ เพราะเดือดร้อนหนัก ตั้งแต่เรื่องความล้มเหลวของภาครัฐในการป้องกันโรคไวรัสใบด่าง ต้องเผาทำลายมัน เร่งเก็บเกี่ยวเร็วขึ้น การประกันราคาจากภาครัฐก็ยังไม่ตกผลึก และ รมช.ก็จะมาแบนพาราควอตในสภาวะที่ราคาตกต่ำ เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนจากราคาพาราควอตที่สูงขึ้นจากข่าวการแบนในสองปีที่ผ่านมา ปัญหาเหล่านี้ เคยลงมาถามเกษตรกรหรือไม่ ความเดือดร้อนของเกษตรกรคือสิ่งที่กระทรวงเกษตรฯต้องให้ความสำคัญ เร่งช่วยเหลือ ไม่ใช่มาซ้ำเติม วันนี้เรามายื่นหนังสือคัดค้านการแบนพาราควอต เร่งรัดเรื่องการประกันราคา และเร่งช่วยเหลือชาวไร่มันเรื่องโรคใบด่าง แล้วเราจะกลับมาฟังคำตอบอีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด เลขานุการ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ผู้รับเรื่องร้องเรียน กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯรับรู้ถึงปัญหาเกษตรกรเป็นอย่างดี และจะนำข้อเสนอเรื่องการจัดการปัญหาโรคไวรัสใบด่าง การยกเลิกการแบน 3 สารเคมี และราคาผลิตผลมันสำปะหลัง ไปดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ล่าสุด นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยมี มติ ครม. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 เห็นชอบให้แก้ปัญหาโรคใบด่างในมันสำปะหลัง ที่เกิดจากเชื้อไวรัส กำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถขายผลผลิตคุณภาพได้ โดยชดเชยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบ ไร่ละไม่เกิน 3,000 บาท โดยเกษตรกรจะต้องยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำลายด้วย โดยดำเนินการทำลายไร่มันสำปะหลังที่ติดโรค ทั้งการขุด ถอน และฝังดิน ทั้งนี้เกษตรกรจะมีต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรเท่านั้น สำหรับการรณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ความรู้เกษตรกรถึงการป้องกันและกำจัดอย่างถูกวิธี รวมถึงการจัดงานรณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง พร้อมแนะ 3 วิธีปฏิบัติกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ปฏิบัติที่ 1 หมั่นสำรวจแปลงอยู่เสมอ ปฏิบัติที่ 2 กำจัดต้นที่เป็นโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบ พาหะนำโรค และ ปฏิบัติที่ 3 คัดเลือกท่อนพันธุ์สะอาด