กลุ่มเกษตรกร ขู่ร้องศาลปกครองคุ้มครองแน่! หากคณะกรรมการวัตถุอันตราย 22 ต.ค.นี้ เคาะแบนสารเคมี 3 ชนิด

สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทยผนึกเกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก ค้านมติคณะกรรมการ 4 ฝ่ายชงคณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิก 3 สารเคมีเกษตร พร้อมขู่ร้องศาลปกครองแน่ หากคกก.วัตถุอันตราย 22 ต.ค.นี้ มีมติสั่งแบนสารเคมี ไม่มีขั้นตอนรองรับ เหตุให้ต้นทุนเกษตรกรพุ่งหลายเท่า ซ้ำรัฐต้องสูญงบฯจัดการทำลายสต็อกสาร 4 หมื่นตันอีกตันละ 5 แสน

ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า สมาคม และเกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก ขอคัดค้านมติคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ที่จะเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณายกเลิกคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้

เนื่องจากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 2101/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ต่อการยกเลิกคลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต นั้น ขาดความชอบธรรมโดยมีแต่กรรมการที่คัดค้านการใช้สารเคมีเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิก และไม่มีตัวแทนผู้นำเข้าอย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ ทางกลุ่มต้องการให้ทบทวนการพิจารณามติยกเลิก โดยให้อิสระคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งจะประชุม 22 ตุลาคมนี้ ให้สามารถทำหน้าที่พิจารณาให้ใช้ข้อเท็จจริง ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ มากกว่าการใช้ข้อมูลบิดเบือนจาก NGO โดยอ้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ขณะที่เกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมอย่างมันสำปะหลัง อ้อย ปาล์ม ยางพารา และข้าวโพด ยังมีความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสารใดที่มีคุณสมบัติและราคาเทียบเท่ามาทดแทนได้โดยเฉพาะสารกำจัดวัชพืชอย่างพาราควอตได้

ดร.วรณิกา กล่าวว่า การประกาศยกเลิกทันทีภายในวันที่ ‪1 ธันวาคมนั้น คณะทำงานฯควรพิจารณาถึง ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อพืชเศรษฐกิจ จากการที่เกษตรกรยังไม่มีสารใดมาทดแทนหรือไม่ ขณะเดียวกันยังต้องมีการจัดการสต๊อกสินค้า สาร 3 ชนิด ที่มีปริมาณเหลือ 40,000 ตัน ซึ่งอยู่ในมือเกษตรกร 10,000 ตัน ‬

‪“หาก คำนวณงบประมาณที่รัฐฯจะต้องใช้จ่ายในการจัดการสินค้าคงค้างดังกล่าวที่มีอยู่มากถึง 30,000 ถึง 40,000 ตัน จะต้องมีค่าทำลายสารเหล่านี้ประมาณ 4,000 ถึง 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าขนย้าย 50 ล้านบาท ค่าชดเชยให้เกษตรกร กก.ละ 500 บาท ค่าทำลายสาร กก.ละ 100 บาท รวมถึงดูแลรักษาที่ภาครัฐต้องเช่าโกดังเก็บสินค้าอีกกว่า 5,050 ล้านบาท ‬เท่ากับว่าจะต้องชดเชยถึง 500,000 บาท ต่อ 1 ตัน ดังนั้นหากรัฐจะมีมติยกเลิกจริงควรจะต้องให้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นทำ เพื่อให้สินค้าที่คงค้างอยู่หมดไป และไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับการทำลายสารเคมีที่ถูกประกาศยกเลิก”

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงขั้นตอนในการประกาศยกเลิกสารเคมี คือ ลด ละ เลิก ณ ขณะนี้อยู่ในช่วงของการลด คือการจำกัดการใช้ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเกษตรได้มีการทำการสร้างความรู้ความเข้าใจ การฝึกอบรมและทดสอบ การใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างถูกต้องและถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของตัวเกษตรกรเอง และผู้บริโภค โดยได้จัดให้มีการฝึกอบรมร้านค้า เกษตรกร และผู้รับจ้าง โดยทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง

“ ตอนนี้การขึ้นทะเบียนสารเคมีถูกระงับไว้โดยสิ้นเชิงผู้ค้าผู้ส่งออกซึ่งมีลูกค้าเตรียมสั่งซื้อถูกเหมารวมไม่สามารถที่จะทำธุรกิจซึ่งจะทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจการเกษตรกำลังจะพังพินาศ”

ทั้งนี้ การจัดการศัตรูพืชโดยการใช้สารยังคงจำเป็นสำหรับเกษตรกร การยับยั้งภาคการผลิตและส่งออกพืชเศรษฐกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้สารดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายโดยไม่จำเป็น เนื่องจากการใช้สารแต่ละประเภทอยู่ภายใต้การกำหนดค่ามาตรฐานจากองค์กรสากล ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันรายอื่น ๆ ที่สามารถพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันในด้านการผลิต และการตลาดที่นำมาใช้ในการประกอบการพิจารณา

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอุตสาหกรรมเตรียมจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอคุ้มครองฉุกเฉิน หากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติพิจารณาแบนสารเคมีทั้งสามชนิด เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของเกษตรกร เพราะยืนยันได้ว่าข้อมูลของภาคประชาชน (NGO) ที่นำออกมาเผยแพร่เป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มได้มีการเสนอข้อมูลผลงานวิจัยไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว ไม่ยอมรับมติของคณะทำงาน 4 ฝ่าย เพราะไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงแต่เป็นการอุปโลกน์ เพื่อมากดดันการทำงานของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

ส่วนสารเคมีที่คาดการณ์ว่าจะนำมาใช้ทดแทนพาราควอตและไกลโฟเซตที่ชื่อ กลูโฟซิเนตนั้น ก็เป็นวัตถุอันตรายประเภท 3 ที่มีราคาสูงกว่าพาราควอตจากถังละ 500 เป็นประมาณ 2,500 บาท ขณะเดียวกันประสิทธิภาพต้องใช้เพิ่มขึ้น 1.5 – 2 เท่า เท่ากับเกษตรกรมีต้นทุนเพิ่ม 12 – 14 เท่าตัว

นายภมร ศรีประเสริฐ ตัวแทนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง กล่าวว่า ฝากถึงนายกรัฐมนตรีว่ารัฐบาลมีนโยบายจะต้องสร้างรายได้ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีแต่ขณะนี้นโยบายและการปฏิบัติสวนทางกัน รัฐบาลสับสนปล่อยให้บางพรรคทำอะไรโดยไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลหากจะมีการแบนสารเคมีควรจะต้องมีการดำเนินการเป็นขั้นตอน เช่น หากปลูกเกษตรอินทรีย์ ต้องหาตลาดสร้างแรงจูงใจและหาตลาดรองรับ ไม่เช่นนั้นจะกระทบต้นทุนเกษตรกร เพิ่มขึ้น โดยชาวไร่มันต้นทุนเพิ่มจาก กก.ละ 1.80 เป็น 2.20-2.30 บาท แต่ขายได้ราคาเท่าเดิม กก.ละ 2.00 บาท เท่ากับเกษตรกรขาดทุน

“ การดำเนินการขณะนี้ผมขอเรียกว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด มีอยู่สามกลุ่มที่เกี่ยวข้องคือองค์กรปีศาจที่อ้างว่าทำทุกอย่างเพื่อประชาชน ถ้าหากจะให้แบนสารเคมีเหตุใดจึงเลือกเพียง 3 ชนิด ตัองแบนทั้งหมด และนักการเมืองตอแหล ที่ต้องการให้แบนสารนี้และไปหาสารทดแทน ที่ได้ไปตั้งบริษัทนำเข้าสารเคมีทดแทนไว้แล้ว ราคาแพงกว่าและจะนำเงินรัฐไปชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกร และนักวิชาการดัดจริต ซึ่งหากทำงานวิจัยก็ต้องตรงกับสิ่งที่ประชาชนเดือดร้อน อีกทั้งการไปโฆษณาว่าประเทศไทยอาบยาพิษส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรด้วยซึ่งไม่ได้เป็นการทำเพื่อเกษตรกรทั้งยังทำให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง”

นายเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหะการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาภาคเกษตรไทยขาดแคลนแรงงาน ทำให้จำเป็นต้องใช้สารเคมี และปุ๋ย โดยเฉพาะพาราควอตเป็นสารเคมีที่ดี มีประสิทธิภาพสูง ยังไม่สามารหาสารทดแทนได้ หากคณะกรรมการจะยกเลิกควรพิจารณาเป็นรายชนิด โดยสารคลอไพริฟอสเป็นสารที่สามารถยกเลิกได้ทันที ขณะที่พาราควอตและไกลโฟเสทควรมีขั้นตอนในการยกเลิก ซึ่งควรแล่อยให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย

“การแบนสารจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งจากข้อมูลสำนักวานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2562 คาดว่า จีดีพีภาคเกษตรจะมีมูลค่า 1.32 ล้านล้านบาท หากแบน 3 สารจะทำให้จีดีพีภาคเกษตรลดลง 570,901 ล้านบาทหรือ 43%”