การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ถือเป็นนโยบายที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ไทยเพิ่งประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ยังมี “หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ” ซึ่งมีกำหนดจะบังคับใช้ในอีก 1.5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2564
ภายใต้บทบัญญัตินี้จะจัดลำดับความสำคัญการจัดสรรน้ำ การแบ่งประเภทการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ และการออกใบอนุญาตการใช้น้ำ และการจัดเก็บค่าน้ำสาธารณะ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 การใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำปริมาณน้อย
ประเภทที่ 2 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น
ประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะกรรมการลุ่มน้ำ จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าน้ำและผู้รับผิดชอบ ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษาหลักเกณฑ์ภายใต้บทบัญญัติดังกล่าว คาดว่าอีก 6-7 เดือนข้างหน้าจึงจะแล้วเสร็จ
จุฬาฯไม่ศึกษา “ค่าน้ำ”
นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขอบเขตการศึกษาของ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จะเน้นศึกษาเรื่องวิธีการ การขออนุญาตทำอย่างไร การจัดสรรน้ำทำอย่างไร แต่ไม่ได้คำนวณ “อัตราค่าน้ำ”
เพราะเรื่องนี้คณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ จะเสนอ กนช. แต่ไม่ว่าอัตราค่าน้ำที่เก็บจะเป็นอย่างไร สทนช.คงต้องออกแนวปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) ว่า น้ำที่ประกอบกิจกรรมภาคธุรกิจมีมูลค่าเท่าไร เช่น มูลค่าน้ำภาคการเกษตรที่บอกว่าค่าน้ำ 1 หน่วย ได้ผลผลิตมาไม่ถึง 10 บาท ถ้าเก็บเขา 5 บาท เกษตรกรจะไม่สามารถอยู่ได้ เพราะราคาผลผลิตที่ขายได้ไม่คุ้มค่าน้ำ ฉะนั้น หลักการต้องดูว่าธุรกิจอะไรเอาน้ำไปใช้ “ได้มูลค่าเพิ่ม” เท่าไร คือ ดูโครงสร้างต้นทุน และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ มาตรานี้ถือว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะการเก็บค่าน้ำใน 3 ประเภทกิจกรรม เช่น ประเภที่ 1 ใช้เพื่อความจำเป็นพื้นฐาน ในการทำการเกษตรเพื่อยังชีพรายย่อยที่มีพื้นที่น้อยกว่า 20% ซึ่งจะไม่เก็บค่าน้ำแน่นอน ประเภท 2 อาจเก็บก็ได้ หรือไม่เก็บก็ได้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะกรรมการลุ่มน้ำจะพิจารณาอีกครั้ง และประเภทที่ 3 อาจเก็บก็ได้ หรือไม่เก็บก็ได้ แต่จะ “ต้อง” ขออนุญาตใช้น้ำ จากเดิมถ้าเป็นน้ำที่ใช้จากแหล่งน้ำสาธารณะไม่เคยต้องขออนุญาต เพียงแต่แจ้งให้ทราบ ซึ่งจากนี้จะเก็บหรือไม่เก็บค่าน้ำก็ได้ เป็นไปตามข้อเสนอทางคณะกรรมการลุ่มน้ำ ที่จะเสนอ กนช. เช่นกัน อนึ่ง ขณะนี้มีการเก็บ 2 ประเภทน้ำ คือ น้ำที่ประกาศเป็นแหล่งน้ำชลประทาน กับน้ำบาดาล
โรงงานหวั่น “ค่าน้ำแพง”
ต่อประเด็นนี้ ภาคอุตสาหกรรมอาจกังวลว่าแล้ว “อัตราค่าน้ำ” ที่จะเรียกเก็บเป็นเท่าไร ยืนยันได้ไม่ต้องห่วงว่าประกาศนี้จะทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำสูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากหลักการเก็บค่าน้ำแต่ละประเภทมีอยู่แล้ว โดย 1) น้ำนอกเขตชลประทาน ทางกรมทรัพยากรน้ำจะเป็นผู้จัดเก็บ 2) ทางน้ำชลประทาน มีกรมชลประทานเป็นผู้จัดเก็บ และ 3) น้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้จัดเก็บ
หากกรมทรัพยากรน้ำพิจารณาว่าจะเก็บค่าน้ำคิวละ 1 บาท ซึ่งตอนนี้กรมชลประทานเก็บคิวละ 50 สตางค์ ก็จะต้องปรับขึ้นเป็น 2 บาท เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงในการจัดหา ส่วนอัตราค่าน้ำบาดาลอาจไม่เก็บเพิ่ม เพราะราคาสูงอยู่แล้วโดยเฉพาะในเขตบังคับการอนุรักษ์น้ำบาดาลสูงกว่าปกติ 2 เท่า จากการเป็นทรัพยากรของชาติ และเพื่ออนุรักษ์น้ำบาดาล ในพื้นที่เสื่อมโทรมก็ต้องเก็บเพิ่ม
ส่วนของกรมชลประทานนั้นหลักการเก็บค่าน้ำสะท้อนค่าบำรุงรักษา ดังนั้นมี 2 แนวคิด คือ เก็บในฐานะเป็นทรัพยากร ซึ่งก็คงต้องเก็บทั้งปี เพราะถือเป็นทรัพยากรของประเทศ หรือเก็บเพื่อสะท้อนการใช้น้ำในช่วงที่หาน้ำยาก (หน้าแล้ง) เพื่อสะท้อนว่าน้ำที่ได้มาเป็นส่วนที่รัฐลงทุน อาจเก็บเฉพาะฤดูแล้ง
กนช.เคาะเก็บช่วงแล้งหรือทั้งปี
“การเก็บค่าน้ำเฉพาะหน้าแล้งเป็นหนึ่งแนวคิด เพราะมองว่าน้ำและอากาศเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความเสียหาย ขณะที่อากาศสามารถหาได้ทุกที่ เทียบกับน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกัน แต่ไม่ได้หาได้ทุกที่ บางช่วงเยอะบางช่วงน้อย เราจึงคิดว่ามาเก็บช่วงที่น้ำน้อย เพื่อให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้ไหม แล้วเอาส่วนที่เก็บไปพัฒนาเป็นกองทุนพัฒนาด้านน้ำต่อ
“การพิจารณาว่าจะเก็บหน้าแล้งหรือเก็บทั้งปีแต่อัตราต่ำ ยังต้องหาข้อสรุปกันก่อน การเก็บทั้งปีง่ายต่อการคำนวณ เพราะหลักการมองว่าน้ำเป็นทรัพยากรชาติ แต่หากอีกด้านมองว่าน้ำเป็นการลงทุนของรัฐ ถ้าคุณใช้น้ำที่รัฐลงทุนก็ควรต้องจ่ายเงินใช่ไหม ฉะนั้น ถ้าคิดอย่างนี้หน้าฝนไม่เก็บ ท้ายที่สุด กนช.จะเคาะโดยความเห็นของคณะกรรมการลุ่มน้ำ”
ตรึงค่าน้ำยาวถึงปี”64
ต่อประเด็นคำถามที่ว่า ระหว่างการศึกษาและกำหนดอัตราค่าน้ำนั้น ภาคเอกชนจะขอปรับค่าน้ำได้หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ได้” และหากจะขึ้นราคาโดยอ้างว่าเป็นค่าบำรุงรักษาจำเป็นต้องตอบให้ได้ว่าค่าบำรุงรักษาเท่าไร ส่วนที่จะอ้างเหตุผลว่ารัฐเก็บค่าน้ำ จึงต้องปรับค่าน้ำทำไม่ได้ เพราะตอนนี้เรายังไม่ได้เก็บ อย่างเร็วก็อีก 2 ปี คือ 2564
จัดสรรน้ำ 6 ภารกิจตามสัดส่วน
ส่วนข้อเสนอเบื้องต้นว่าด้วย “การจัดสรรน้ำ” กำหนดว่าจะไม่ลดการใช้น้ำใน 6 ประเภทกิจกรรม คือ เกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ ท่องเที่ยว คมนาคม และพลังงาน ถ้าเกิดกรณีมีน้ำปริมาณน้อยจะลดเป็นสัดส่วนตามลำดับประเภทกิจกรรม แต่อันดับท้าย ๆ อาจลดลงสัดส่วนมากกว่า
แต่หากจะลด “ยังต้อง” ตกลงกันก่อนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งประเด็นนี้อยู่ในหมวดการบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤต และต้องมีรายละเอียดภายใต้กฤษฎีกาอีกครั้ง ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินว่าสามารถดึงน้ำจากภาคเอกชนมาใช้ได้ แต่รัฐต้อง “คืนรายได้” ค่าน้ำให้กับเอกชนเจ้าของน้ำด้วย
มุ่งอนุรักษ์แหล่งน้ำสาธารณะ
นอกจากนี้ อีกมาตราที่ไม่ค่อยมีการพูดถึงากนัก คือ “หมวด 6 การอนุรักษ์และการพัฒนาแหล่งน้ำสาธารณะ” ซึ่งเดิมมีช่องว่างในกฎหมายผังเมือง โดยกฎหมายกำหนดให้การใช้ประโยชน์ที่ดินสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อการใช้แหล่งน้ำสาธารณะในกรณีที่จำเป็นอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยสามารถไปออกกฎระเบียบผังเมืองเรื่องเหล่านั้นได้ เช่น อาจจะไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ หรือต้องตั้งห่างไม่น้อยกว่า 1 กม. หรือ 500 เมตร
หรือแนวทางที่ 2 อาจอาศัยอำนาจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะออกระเบียบว่า โรงงานอุตสาหกรรมประเภทใดที่ไม่อนุญาตให้ตั้งอยู่เหนือแหล่งน้ำสำคัญ หรืออ่างเก็บน้ำ เพราะป้องกันเรื่องการตกค้างของมลพิษในแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งประเด็นนี้ในอดีตเราจะเห็นว่า หลายนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำ เพราะในสมัยก่อนไม่มีกฎหมายบังคับด้านนี้
อย่างไรก็ตาม 2 จุดนี้ยังไม่กำหนดรายละเอียดของการดำเนินการ เพียงระบุว่า “ถ้าจำเป็น” ให้ 2 กระทรวงสามารถออกระเบียบ และรัฐอาจเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้ที่ทำให้เกิดมลพิษตามมาตราความไม่ชอบทางแพ่งด้วย