บี.กริมเล็งจีบผู้ชนะดีลอู่ตะเภา ออกหุ้นกู้ 6 พันล้านปูพรมขยายกำลังผลิต

บี.กริม เพาเวอร์ ลุ้นเจรจาผู้ชนะดีลอู่ตะเภาขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในสนามบิน แง้มแผนลงทุนหลังออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ลอตแรก 6 พันล้าน เดินหน้าโปรเจ็กต์ยักษ์โรงไฟฟ้าอู่ตะเภา จ่อ M&A ขยายโรงไฟฟ้านอกอีก 2 ดีล ลุยโรงไฟฟ้าไบโอแมส ราชบุรี มั่นใจรายได้ปี”62 ทะลุ 43,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือและประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกแถลงมติที่เห็นชอบผู้ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคและราคา 2 ราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และกลุ่ม Grand Consortium หลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องกลุ่มการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด (บี.กริมฯ-อิตาเลียนไทยฯ-ช.การช่าง) ไปก่อนหน้านี้ แม้ว่าทางกลุ่มได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง แต่ก็ยังต้องลุ้นว่าจะทันกับการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะซึ่งคาดว่าจะสรุปในวันที่ 21 ต.ค.นี้ได้หรือไม่

ล่าสุดนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องกลุ่มการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง ซึ่งมี บี.กริมฯรวมอยู่ด้วยนั้น ไม่ได้กระทบกับ BGRIM เพราะการร่วมกลุ่มนี้เป็นในส่วนของ บี.กริม จอยต์เวนเจอร์ ซึ่งเป็นคอนซอร์เตี้ยมเพียงอยู่แค่ 15% ไม่ใช่ บี.กริม เพาเวอร์

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ BGRIM ยังได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากกองทัพเรือให้สิทธิ์การสร้างโรงไฟฟ้าบริเวณโดยรอบสนามบินอู่ตะเภาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นไม่ว่าหลังจากนี้ ผู้ชนะโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นกลุ่มใดก็จะประสานเพื่อดำเนินการต่อ โดยหวังว่าจะขอขยายเข้าไปขายไฟภายในสนามบิน

ส่วนความคืบหน้าของการทำสัญญา (พีพีเอ) โครงการโรงไฟฟ้ารอบอู่ตะเภากับทางกองทัพเรือ ซึ่งเดิมมีกำหนดจะลงนามในเดือนมิถุนายนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย เหตุที่ล่าช้าเนื่องจากที่ดินบริเวณรอบสนามบินเป็นของกองทัพเรือ แต่โครงการดังกล่าวจำเป็นจะต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อนการลงทุน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการจัดคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ คาดว่าในปีนี้ขั้นตอนนี้น่าจะเสร็จสิ้น ส่วนกระบวนการหลังจากทำสัญญาเช่าที่ดินแล้ว จะดำเนินการจัดทำผลศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อด้านสุขภาพ (EIA/EHIA) ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน เพราะโรงไฟฟ้าโซลาร์ถือว่าเป็นพลังงานสะอาด ไม่น่าจะยาก คาดว่าสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผน ซึ่งมีเป้าหมายว่าโรงไฟฟ้าเฟสแรกในส่วนของโซลาร์และแบตเตอรี่จะสามารถขายไฟได้ในเดือนเมษายน 2563

นางปรียนาถกล่าวถึงประเด็นการออกหุ้นด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนว่าเตรียมจะเปิดจองซื้อในระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายนนี้ โดยเป้าหมายลอตแรก6,000 ล้านบาท และหากได้รับความสนใจ ทางบริษัทยังได้ตั้งสำรองไว้อีก 2,000 ล้านบาท การออกหุ้นกู้นี้เป็นรูปแบบที่ต่างจากเดิมที่ บี.กริมเคยออกกรีนบอนด์ไปแล้วนั้น เนื่องจากฝ่ายการเงินขอวิเคราะห์ด้านการตลาดแล้วเห็นว่า

ขณะนี้เป็นจังหวะที่ดีในการออกหุ้นลักษณะนี้จากปัจจัยเรื่องตลาดเป็นหลัก เพราะหากเทียบผลตอบแทนดอกเบี้ยหุ้นนี้กำหนดไว้ในอัตรา 5% เป็นเวลา 5 ปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปกติที่ 1%น่าจะสร้างแรงจูงใจผู้ซื้อได้และหากออกหุ้นในจังหวะนี้เหมาะสมกว่า ถ้าเลื่อนไปออกปีหน้ามีจะมีความไม่แน่นอนจากความผันผวนในตลาดโลก ซึ่งหลายฝ่ายมองถึงเรื่องการเกิดรีเซสชั่น

“จริง ๆ ถ้าอยากจะออกบอนด์แบบเดิมก็ยังสามารถทำได้เพราะมีผู้สนใจซื้อจำนวนมาก จากที่เห็นผลการดำเนินงานของเราที่เกินเป้าหมาย ช่วงที่ผ่านมาทำให้บริษัทมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ทุกโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างมีสัญญาเป็นที่เรียบร้อยกับรัฐบาลและการไฟฟ้าทำให้มีความเสถียร (stable) และยังได้เรตติ้งเอ เราออกหุ้นนี้้เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาลงทุนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าได้ โดยได้ผลตอบแทน 5% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงจูงใจมาก จะเห็นว่ามีอีกหลายบริษัทที่ออกหุ้นในลักษณะนี้ในช่วงนี้ เพื่อเปิดโอกาสที่คนที่มีเงินเก็บสามารถลงทุนในหุ้นที่มีความแน่นอน และให้ผลตอบแทนสูง อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งหุ้นประเภทนี้จะไม่มีคอมมิตเมนต์ชัดเจนว่าบริษัทจะคืนทุนภายใน 5 ปีหรือไม่ เป็นหุ้นไม่มีอายุ แต่นักลงทุนจะได้ดอกเบี้ย 5 ปี ปีละ 2 ครั้ง หากพ้น 5 ปีไปแล้วไม่อยากจะคืน ก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เพิ่มอีก 0.25% เป็น 5.25% ซึ่งเป็นอัตราเทียบเท่ากับพันธบัตรรัฐบาล”

ส่วนประเด็นความเสี่ยงในการลดเรตติ้งของบริษัทจากการออกหุ้นกู้ลักษณะนี้ มองว่าบางบริษัทออกหุ้นกู้ประเภทนี้เพื่อคงเครดิต เพราะถ้าไม่ออกหุ้นนี้แล้ว บริษัทใช้วิธีไปกู้เงินลงทุนแทน จะทำให้อัตราหนี้ต่อทุน (D/E ratio) เปลี่ยน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 ต่อ 1 ซึ่งถือว่าอยู่ระดับดี เพราะบริษัทพยายามจะรักษาอัตราD/E ratio ไม่ให้ถึง 2 ต่อ 1 การออกหุ้นนี้หมดจะถูกคำนวณให้ไปอยู่ในส่วนของทุน (อีควิตี้) จึงไม่ทำให้พี/อีเรโชเพิ่ม

สำหรับแผนการใช้เงินที่ระดมทุนลอตแรก 6,000 ล้านบาท เป็นไปเพื่อโครงการทั้งในและต่างประเทศ บางส่วนแจ้งตลาดไปแล้ว อาทิ เอสพีพี 7 โรง(รีเพลซเมนต์ 5 โรง และโกลด์ 2 โรง) โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เกาหลี พีพีเออู่ตะเภา การเพิ่มน้ำหนักการลงทุนโรงไฟฟ้าลมและก๊าซที่เวียดนาม และที่สำคัญ ยังมีโอกาสในการลงทุนซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้าที่มาเลเซีย ขยายโรงไฟฟ้าที่เกาหลีเฟส 2 จากเฟสแรกที่ทำไปแล้ว 36 เมกะวัตต์ เพราะได้รับโอกาสจากเรตแอดเดอร์ดีมากการลงทุนโรงไฟฟ้ารูปท็อปที่ฟิลิปปินส์ก็มีโอกาสเข้ามา ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีกหลายโครงการ

“คาดการณ์รายได้ในปี 2562 ขยายตัวตามเป้าหมายที่วางไว้ 40% มูลค่า 43,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่วนในปีหน้า 2563 มองว่าแนวโน้มรายได้ยังเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของแผนการลงทุนที่วางไว้ แม้ว่าอาจจะไม่เติบโตก้าวกระโดด 40% เช่นในปีนี้ แต่ปีหน้าจะมีการปิดดีล M&A แล้ว ยังได้รับผลดีจากการที่บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล (ไบโอแมส) ที่จังหวัดราชบุรี โดยใช้ระบบไฮโดไรซิสผลิตจากชิ้นส่วนยางรถยนต์เก่า คาดว่าการก่อสร้างแล้วเสร็จและจะสามารถเปิดขายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) สิ้นปี 2562 ตามด้วยการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานลมในสิ้นปีหน้า”