โค้งสุดท้าย RCEP ชงสุดยอดผู้นำเคาะเปิดเสรี 16 ชาติ

ที่ประชุม RCEP

ในการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 9 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2562 โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้ยืนยันถึงความตั้งใจที่จะสรุปผลการเจรจาความตกลงฉบับนี้ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2562 โดยเตรียมจะนำผลสรุปเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาร์เซ็ปครั้งที่ 3 ที่ไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562

ผลสรุปการประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ปครั้งนี้เป็นการรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการเจรจาอาร์เซ็ปครั้งที่ 28 ณ เมืองดานัง เวียดนาม ที่ผ่านมาซึ่งมีความคืบหน้าในการเจรจาเปิดตลาดแล้ว 80.4% ยังคงเหลือพิจารณาที่ใกล้จะจบอีก 16% และยังคงเหลือการเจรจาเพื่อเปิดตลาดที่จะต้องเร่งเจรจาหารือกันต่ออีก 3.6%

โดยภาพรวมของข้อบทความตกลงทั้งหมด 20 ข้อบท 3 ภาคผนวก ซึ่งขณะนี้สามารถสรุปไปได้แล้ว 14 ข้อบท และอีก 3 ภาคผนวก โดยยังคงเหลืออีก6 ข้อบท คือ บทการเยียวยาทางการค้าบทการแข่งขัน บทการค้าบริการ บทกฎถิ่นกำเนิดสินค้า บทการลงทุน และบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องเร่งหาข้อสรุปในช่วงโค้งสุดท้ายของการเจรจา ในรอบการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาร์เซ็ป ระหว่างวันที่ 14-19 ต.ค. 2562 ที่กรุงเทพฯและการประชุมระดับรัฐมนตรีอาร์เซ็ปอีกรอบ ในวันที่ 1 พ.ย. 2562 ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่การประชุมสุดยอดอาร์เซ็ปเพื่อประกาศความสำเร็จให้ทันท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ การสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ

หากความตกลง RCEP บรรลุผล จะเป็นกรอบการเจรจาที่มีขนาดตลาดที่ใหญ่ มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือกว่าครึ่งของประชากรโลก อีกทั้งมีมูลค่า GDP กว่า 27.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 32.3% ของ GDP โลก มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29.3% ของมูลค่าการค้าโลก หากความตกลงสำเร็จจะสร้างความเชื่อมโยงในห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาค และช่วยลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ช่วยให้การประสานกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าสะดวก ส่งผลให้มีการยอมรับกฎเกณฑ์ด้านมาตรฐานต่าง ๆ ระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคในอนาคต

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะประกาศความสำเร็จการเจรจา RCEP ให้ได้ในปลายปีนี้ ทั้งนี้ 13 ข้อบท และ 3 ภาคผนวก ที่สรุปได้แล้ว ประกอบด้วยบทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป การค้าสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้นการระงับข้อพิพาท บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐานกฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐรวมถึงภาคผนวกภายใต้บทการค้าบริการ คือ ภาคผนวกโทรคมนาคม ภาคผนวกการเงิน ภาคผนวกวิชาชีพ

ทั้งนี้ ภายหลังจากการประกาศความสำเร็จแล้ว สมาชิก 16 ประเทศจะนำความตกลงเข้าสู่กระบวนการภายในประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมในการลงนามและให้สัตยาบัน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ปี จากนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้