วอนผู้ประกอบการอย่าเพิ่งตื่นตระหนก กับกม. AC ย้ำไม่มีผลต่อผู้ค้าที่สุจริต

นายชุตินันท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับทราบข้อกังวลของผู้ประกอบการเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวได้เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการAD/CVD ที่เรียกว่ามาตรการ Anti-Circumvention (AC) ซึ่งกรมฯไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวกรมฯ จึงขอชี้แจงว่า เจตนารมณ์ของกฎหมาย ACคือการตอบโต้ผู้ที่กระทำความผิดจากการหลบเลี่ยงการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ซึ่งการหลบเลี่ยงดังกล่าวทำให้มาตรการ AD/CVD ไม่มีประสิทธิภาพการใช้มาตรการ AC จึงเป็นการป้องกันการใช้ประโยชน์โดยมิชอบจากช่องโหว่ของกฎหมาย
 
“ก่อนการใช้ AC จะต้องมีการไต่สวนโดยจะไต่สวนเฉพาะรายที่ถูกกล่าวหาว่าหลบเลี่ยงมาตรการเท่านั้น จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายที่จะได้รับผลกระทบตามที่กังวลนอกจากนี้กฎหมายยังเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายสามารถเข้าร่วมกระบวนการไต่สวนและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนได้อีกด้วย”นายชุตินันท์กล่าว
 
ในส่วนของการกำหนดอากรจะต้องพิจารณาว่ามีการหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVDกับสินค้าใด และสินค้านั้นมีแหล่งกำเนิดจากประเทศใดโดยหากไต่สวนแล้วพบว่ามีการหลบเลี่ยงจริง จะนำอัตราอากร AD/CVD ที่เรียกเก็บกับสินค้าที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้จากประเทศนั้นมาเรียกเก็บกับสินค้าที่มีการหลบเลี่ยงฯด้วย มิใช่ว่าสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศจะถูกเรียกเก็บอากรในอัตราเดียวกัน
 
ทั้งนี้ ในต่างประเทศ ได้มีการใช้กฎหมาย AC มาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว อาทิสหภาพยุโรป เริ่มใช้กฎหมาย AC ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ขณะที่ออสเตรเลียใช้กฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2013 พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่เป็นสากลมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการค้า และทำให้มาตรการ AD/CVD กลับมามีประสิทธิภาพดังเดิมและไม่ใช่การกีดกันทางการค้าแต่อย่างใด หากผู้ประกอบการดำเนินการค้าโดยสุจริต ก็ไม่ต้องกังวลกับการบังคับใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว