ตั้งบอร์ดรับมือโรคอหิวาต์หมู ชงของบ 1.8 พันล้าน ชดเชยผู้เลี้ยงรายย่อย

นายกฯแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันอหิวาต์หมูแห่งชาติ “จุรินทร์” ประธาน เผยล่าสุดแพร่ระบาดจากตะเข็บชายแดนเมียนมา-กัมพูชา-ลาว เข้าถึงเหนือจดอีสาน “เชียงราย-ศรีสะเกษ-บุรีรัมย์-อุบลรฯ-นครพนม” กรมปศุสัตว์ฆ่าแล้วหมื่นตัว พร้อมเร่งผลักดันของบฯ 1,800 ล้าน จ่ายค่าชดเชย

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อม และสามารถดำเนินการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โดยมอบหมายให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมีรองประธาน 2 คน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ, อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงต่าง ๆ เช่น กลาโหม, คลัง, คมนาคม,ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, พาณิชย์, มหาดไทย, สาธารณสุข เป็นต้น

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการปศุสัตว์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรมีความเสี่ยงสูงมากจะเกิดการแพร่ระบาดในฟาร์มผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในหลายจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมากัมพูชา และลาว และเข้ามายังประเทศไทยเช่น เชียงราย พะเยา และน่าน ล่าสุดที่ศรีสะเกษ, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี, นครพนม เป็นต้น ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ฆ่าสุกรไปประมาณ 10,000 ตัว โดยให้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระดมเงินจากผู้เลี้ยงรายใหญ่เข้า “กองทุนชดเชยและป้องกันโรค ASF” ไว้จ่ายชดเชย ใช้เงินไปแล้วกว่า 40 ล้านบาท และยังติดเงินผู้เลี้ยงรายย่อยในหลายฟาร์มที่ได้ฆ่าสุกรไปแล้วแต่ไม่มีเงินจ่าย จนสร้างความไม่พอใจให้ผู้เลี้ยงรายย่อยดังนั้น กรมปศุสัตว์จึงพยายามผลักดันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวาระแห่งชาติ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อผลักดันงบประมาณที่ขอไปเบื้องต้นประมาณ 1,800 ล้านบาทเพื่อมาจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เลี้ยงรายย่อย ก่อนลุกขึ้นมารวมตัวกันประท้วง ขณะเดียวกันจะได้ขอกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยป้องกัน เพราะกรมปศุสัตว์เองมีบุคลากรจำกัด

ขณะที่ นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “กองทุนชดเชยและป้องกันโรค ASF” ของผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศที่ส่งมาที่สมาคม 36 ล้านบาท

สมาคมได้ใช้จ่ายไปหมดแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2562 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรจากภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศได้โอนมาให้อีก 6 ล้านบาท ก็หมดลงแล้วเช่นกันเพราะเงินที่โอนเข้ากองทุนส่วนกลางส่วนใหญ่จะนำไปใช้หนี้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่มีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ (PRRS) เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ อย่างไรก็ตามหมูที่เป็นโรค PRRSสามารถบริโภคได้

“โรค ASF ยังไม่เกิดในไทย ต้องช่วยกันป้องกัน หากเกิดขึ้นมาจะลุกลามเร็วมากราคาหมูจึงยังไม่นิ่งผู้เลี้ยงยังขาดทุน เพราะผู้บริโภคยังกลัวกันอยู่ ทำให้ราคาหมูเป็นในภาคเหนือและภาคอีสานที่ติดประเทศเพื่อนบ้านที่ระบาดอยู่ที่ระดับเฉลี่ย กก.ละ 50-52 บาท ส่วนภาคกลางภาคตะวันตก กก.ละ 54-56 บาทขณะที่ต้นทุนการผลิตกก.ละ 60 บาท” นายสุรชัยกล่าว