“สยามแก๊ส” ซื้อ “ไทยพับลิคพอร์ต” ทางลัดผุดท่าเรือ-คลัง LNG

สัมภาษณ์

แม้ปัจจุบันทั่วโลกยังพึ่งพาเชื้อเพลิงถ่านหิน แต่การเปลี่ยนแปลงของโลกและดีมานด์การใช้เริ่มสะท้อนชัดเจนแล้วว่าก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะก๊าซปิโตรเลียมเหลว (liquefied natural gas) หรือ LNG เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญกับนโยบายด้านพลังงานแต่ละประเทศ เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยที่เริ่มเปิดให้มีผู้นำเข้ามากขึ้น ล่าสุด สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ (SGP) ตัดสินใจเข้าซื้อบริษัท ไทยพับลิคพอร์ต โดยตั้งเป้ารุกธุรกิจ LNG ป้อนลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเต็มสูบ

ทุ่ม 3,000 ล.เนรมิตคลัง LNG

นายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) (SGP) กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้บริษัทย่อยซื้อบริษัท ไทยพับลิคพอร์ต มูลค่ารวม 3,360 ล้านบาท เพื่อลงทุนในคลังน้ำมันและท่าเรือบริเวณเกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีเพื่อรับสินค้าเพิ่มในอนาคต และเล็งเห็นโอกาสและจังหวะที่เหมาะสมในการลงทุน LNG โดยตั้งเป้านำเข้า LNG เป็นรายที่ 2 ในประเทศ

ขณะเดียวกัน บริษัทจะนำเงินลงทุน 7,900 ล้านบาท โดยนำมาจากกระแสเงินสด 20% และอีก 80% มาจากเงินกู้สถาบันการเงินและการออกหุ้นกู้ในการลงทุนระยะแรก ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีลูกค้าติดต่อเข้ามาและบริษัทจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นขยายฐานลูกค้าโดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมภาคใต้ ซึ่งมองว่าได้เปรียบเพราะใกล้ตลาดและสามารถป้อนลูกค้าได้เร็ว คู่แข่งน้อย แม้เป้าหมายในอนาคตจะเป็นลูกค้าโรงไฟฟ้า แต่ยังมองอุตสาหกรรมเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนเพิ่มบริเวณเกาะสีชัง ใช้เงินจำนวน 5,000 ล้านบาทเพื่อสร้างคลังสินค้าเหลว มีถังเก็บ 14 ถัง ทั้งหมดนี้คาดว่าประมาณ 80% จะเป็นลูกค้าในประเทศ ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรม อาจจะมีประเทศที่ 3 เข้ามาเก็บน้ำมันเพื่อกลั่นและขายต่อ ซึ่งจะรองรับก๊าซธรรมชาติได้ 4 ล้านตัน/ปี รวมถึงลงทุน 2,500 ล้านบาทที่บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา รองรับได้ประมาณ 5-6 แสนตัน/ปี และทุ่มลงทุน 400 ล้านบาทขนส่งโลจิสติกส์ ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2565 จะแล้วเสร็จ (2563-2565) ด้วยปริมาณขาย 1 ล้านตัน/ปี และคาดว่าสามารถขายได้สูงสุด 5 ล้านตัน/ปี

ในเฟสแรกสามารถสร้างรายได้ 12,000-50,000 ล้านบาท มีระยะเวลาคืนทุน 8.25 ปี อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่ 16.07% อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ชะลอแผนลงทุนคลังก๊าซ LNG และท่าเรือที่ จ.ระยอง บนที่ดินเกือบ 400 ไร่ หลังจากเข้าซื้อกิจการบริษัท ไทยพับลิคพอร์ต จำกัด (TPP) เพื่อลงทุนโครงการดังกล่าว ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อไป

“เรามีจุดแข็งการจัดหาจัดเก็บและบริหารปิโตรเลียมเหลวมากว่า 50 ปี จุดเด่นแนวท่อสามารถแข่งขันได้ และได้เปรียบด้านต้นทุน ทำให้มีอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ที่ดีกว่า ซึ่งบริษัทไม่ได้มองว่าต้องแข่งกับพี่ใหญ่ ปตท. (PTT) เเต่เรามองเห็นโอกาสและแนวโน้มตลาดก๊าซLNG มีความต้องการใช้เติบโตอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ และยังไม่มีผู้เล่นมากนัก บวกกับนโยบายรัฐบาลที่เริ่มส่งเสริมให้ใช้ก๊าซธรรมชาติ”

เพิ่มลงทุนใน/ต่างประเทศ

สำหรับกลยุทธ์การขยายการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างคลังก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย คาดว่าจะเปิดให้บริการในไตรมาส 4/2562 จะเพิ่มปริมาณ 11,000 ตัน หลังจากปลายไตรมาส 1 และหลังจากได้เปิดให้บริการคลังก๊าซ LPG ที่ North Port ประเทศมาเลเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนลงทุนกลุ่มอาเซียน

เพื่อนบ้าน CLMV อาทิ อินโดนีเซีย และคลังก๊าซ LPG เมียนมา ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2563 ตั้งเป้าไว้ที่ 8,000-10,000 ตัน/เดือน และกัมพูชาเป็นท่าเรือขนาดเล็กร่วมมือขายให้กับ importer รวมถึงยังคงเดินหน้าสร้างพันธมิตรกลุ่มลูกค้าหลัก อาทิ สิงคโปร์ อินเดีย ออสเตรเลีย ต่อเนื่องประกอบกับบริษัทยังมีความสนใจเข้าไปลงทุนคลังก๊าซ LPG ในประเทศบังกลาเทศเพิ่มเติม เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนปลายปี 2562 จากปัจจุบันมีการขายส่งก๊าซไปยังบังกลาเทศแล้วในปี 2562 ประมาณ 30,000-40,000 ตัน/เดือน ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี

จีบจีนลงทุนปิโตรเลียมขั้นปลาย


สำหรับภาพรวมธุรกิจการลงทุนยังมองว่าปัจจุบันราคาก๊าซช่วง 3-4 ปียังคงนิ่งด้วยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ประเมินว่าอยู่ที่ 3 เหรียญต่อ 1 ล้านบีทียู อยู่ในระดับที่เหมาะสม ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่ดีและมั่นคง จีน 40% รองลงมาคือ สิงคโปร์ ซึ่งไทยจะแข่งขันผลักดันให้เป็นฮับ LNG มองว่าอาจจะยากเพราะต้องสู้กับสิงคโปร์ แต่ถือว่ารัฐบาลเริ่มไปได้ดี รวมถึงนโยบายอีอีซีก็เป็นโอกาสที่ดีแก่นักลงทุน ซึ่งล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างหารือกับการลงทุนปิโตรเคมีขั้นปลายในประเทศไทยร่วมกับจีน คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้