‘เฉลิมชัย’ รอลุ้นมติ 3 สาร ลั่นพร้อมเตรียมแผนอุ้มเกษตรกรเต็มที่ วอนยอมรับผลตัดสิน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของสหพันธ์เกษตรปลอดภัย (FSA)  ว่าได้รับทราบข้อมูลจากฝั่งเกษตรกรที่สนับสนุนให้ใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตรต่อไป ซึ่งโดยส่วนตัวพร้อมที่จะรับฟังข้อมูลทุกด้านแต่การตัดสินใจจะแบนสารเคมีดังกล่าวหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค.นี้ และในภาวะปัจจุบันคงไม่เหมาะสมที่จะให้ความเห็นใดๆได้ เพราะแม้แต่ยืนอยู่ตรงกลางขณะนี้ยังถือว่าผิด หากพูดอะไรออกไปเวลานี้จะเป็นการชี้นำต่อพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ แต่จุดยืนของตนให้ทุกฝ่ายย้อนกลับไปดูการแถลงข่าวก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการตัดสินของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะออกมาในรูปแบบใด กระทรวงเกษตรฯก็มีแนวทางรองรับปัญหาไว้แล้ว โดยกรมวิชาการเกษตรได้ส่งแนวทางรับมือมาแล้ว แต่ยังไม่อ่านต้องรอฟังผลในวันที่ 22 ต.ค.นี้  ส่วนกรณีเกษตรกรจะแบนพรรคประชาธิปัตย์  หากไม่สามารถใช้ 3 สารเคมีต่อ ต้องรอให้ถึงเวลาการนั้นก่อน  ส่วนการตัดสินใจเรื่อง แบน 3 สาร นี้จะมีผลกับการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่นั้น  ถ้าการเลือกตั้งมีวันพรุ่งนี้ ตนก็จะตอบอีกอย่างหนึ่ง

ทั้งนี้ในการประชุมวันที่ 22 ต.ค.นี้ ตัวแทนของเกษตรกรทั้ง 5 คน ยังยืนยันว่าจะเข้าร่วมประชุมพร้อมกัน เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครส่งหนังสือเพื่อจะถอนตัว

ส่วนทางด้าน เครือข่ายสมาพันธ์ฯ นำโดย นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรกรปลอดภัย ได้พบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสอบถามว่า กระทรวงเกษตรฯได้มีคำสั่งดังกล่าวจริงหรือไม่ หากนายเฉลิมชัย เป็นผู้ออกคำสั่งจริง สมาพันธ์ ก็พร้อมจะแบนพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน จากปัจจุบันที่ได้แบนพรรคภูมิใจไทยไปแล้ว  แต่ในกรณีที่นายเฉลิมชัยไม่มีคำสั่งดังกล่าว ทางสมาพันธ์ก็ขอฝากชีวิตเอาไว้ด้วย เพราะการยกเลิกใช้สารทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวจะกระทบและสร้างความเสียหายต่อการผลิตสินค้าเกษตรเศรษฐกิจหลักจริงๆ

นอกจากนี้จากที่นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ได้เสนอในการสัมมนาในปี 2561 ที่โรงแรมรามาการ์เดนท์ ให้ยกเลิกการใช้พาราควอต โดยระบุให้ใช้กลูโฟสิเนต แทนนั้น ทาง FSA ได้นำมาวิเคราะห์ และเปรียบเทียบต้นทุนการกำจัดวัชพืชในพืชเศรษฐกิจหลัก  พบว่าจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 7 เท่าตัว

ทั้งนี้ เนื่องจากสารดังกล่าวมีราคาที่สูงกว่า ประสิทธิภาพต่ำกว่า และมีข้อมูลที่บอกว่าจะสะสมเป็นผลระยะยาวกับสุขภาพ เช่น อ้อย เมื่อใช้พาราควอต จะมีต้นทุน 62.5-1.25 บาทต่อไร่ต่อปี  ใช้แรงงานคนจะมีต้นทุน 2,400 บาทต่อคนต่อปี  แต่ไม่มีข้อแนะนำใช้กลูโฟเนตทดแทน  ปาล์มน้ำมัน เมื่อใช้พาราควอต จะมีต้นทุน 62.5-225 บาทต่อไร่ต่อปี  ใช้แรงงานคนจะมีต้นทุน 3,600 บาทต่อคนต่อปี เพราะอาจกระทบกับระบบราก กลูโฟเนตทดแทน 445-1,112.5 บาทต่อไร่ต่อปี  ยางพารา เมื่อใช้พาราควอต จะมีต้นทุน125-187.5  บาทต่อไร่ต่อปี  ใช้แรงงานคนจะมีต้นทุน 1,200  บาทต่อคนต่อปี  กลูโฟเนตทดแทน จะมีต้นทุน 445-890 บาทต่อคนต่อปี  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อใช้พาราควอต จะมีต้นทุน 125-250 บาทต่อไร่ต่อปี  ใช้แรงงานคนจะมีต้นทุน 2,400 บาทต่อคนต่อปี  แต่ไม่มีข้อแนะนำใช้กลูโฟเนตทดแทน มันสำปะหลัง เมื่อใช้พาราควอต จะมีต้นทุน 125- 250 บาทต่อไร่ต่อปี  ใช้แรงงานคนจะมีต้นทุน 2,400 บาทต่อคนต่อปี  แต่ไม่มีข้อแนะนำใช้กลูโฟเนตทดแทน

“หากคิดแค่เพียง 60 ล้านไร่ เฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้พาราควอต ได้แก่ ผู้ปลูกอ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ทุเรียน มะพร้าว ยังไม่รวมผลไม้ชนิดอื่น อาทิ แก้วมังกร มังคุด ฝรั่ง และอื่น ๆ จะเสียค่าใช้จ่ายแรงงานสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี และยังไม่รู้ว่าจะหาแรงงานจากไหน ต่างจากการใช้ พาราควอตมีต้นทุนเพียง 0.13 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น ภาครัฐต้องเตรียมเงินมาชดเชยในส่วนค่าแรงงานให้เกษตรกรต่อปีไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านบาท”

นายบรรพต ด้วงชนะ ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลแม่กลอง กล่าวว่า ได้ทำหนังสือนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ทบทวนการยกเลิกการใช้ 3 สารดังกล่าวตามความเห็นชอบของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เนื่องจากเป็นการกระทำโดยพลการ และรวบรัดเพื่อกดดัน อว. ให้พิจารณาเห็นชอบ แบน 3 สาร จากข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและยังไม่ทราบที่มาที่ไปของสาร

ทั้งนี้ การใช้ 3 สารดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนการใช้อย่างถูกต้อง  ดังนั้นหากเลิกโดยไม่มีสารใดทดแทนที่มีคุณภาพและต้นทุนที่ต่ำกว่า จะส่งผลกระทบต่อุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าเกษตร เสียศักยภาพในการแข่งขัน และกระทบไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง  รวมถึงหนี้สินเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นหาก อว. เห็นชอบให้แบนสารดังกล่าว เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรอย่างถูกต้องก่อนหน้านี้จะยื่นต่อศาลปกครองเพื่อรับการคุ้มครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ 22 ต.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยมีนายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และคณะกรรมการจากทุกหหน่วยงานเกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 29 คน